Process & Proceeds

นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากมักจะเชื่อว่าความสำเร็จในการลงทุนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับวิธีการหรือกระบวนการลงทุน  พวกเขาคิดว่าวิธีการอย่างไรก็ได้  ขอให้ทำแล้วได้กำไร  พูดง่าย ๆ  ซื้อถูกแล้วขายแพง  แต่ถ้าถามต่อว่าจะทำอย่างไรจึงจะซื้อได้ในราคาถูกและขายได้ในราคาที่แพงเป็นส่วนใหญ่เขาก็มักจะตอบไม่ได้  คนเหล่านี้ผมคิดว่าเขาลงทุนด้วยความรู้สึกหรืออารมณ์มากกว่าการวิเคราะห์ด้วยเหตุผลหรือวิชาการ  เขารู้สึกว่าหลักการเหล่านั้นมันอาจจะยากเกินไปหรือช้าเกินไปสำหรับการลงทุน  สำหรับเขาแล้ว  หัวใจสำคัญก็คือการคอยดูว่า  “เจ้ามือ” หรือนักเล่นหุ้นรายใหญ่เขาจะเล่นหรือซื้อขายหุ้นตัวไหนและในทิศทางไหน  ดังนั้น  การดูการเคลื่อนไหวของราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นคือสิ่งที่เขาจะต้องทำตลอดเวลา  นอกจากนั้นพวกเขาก็จะต้องคอยติดตามข่าวสารต่าง ๆ  ตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่เน้นเรื่องหุ้นและข่าวซุบซิบตามเว็บไซต์และข้อมูลจากสื่อสังคมเช่นในไลน์กลุ่มต่าง ๆ  เป็นต้น  ในสายตาของนักลงทุนที่มีความรู้หรือประสบการณ์แล้ว  คนเหล่านี้มักจะถูกเรียกว่า  “แมงเม่า” ซึ่งมักจะเข้ามาซื้อขายหุ้นรายวันในหุ้นที่กำลังมีการปรับตัวที่  “ร้อนแรง” ทั้งทางขึ้นและทางลง

นักลงทุนที่อาจจะมีขนาดพอร์ตใหญ่ขึ้นมาและมีความรู้และประสบการณ์สูงขึ้นก็จะมีวิธีการหรือกระบวนการลงทุนที่เป็นระบบหรือวิชาการมากขึ้น  บางคนใช้วิธีการทางเทคนิคเพื่อที่จะบอกว่าเขาควรจะซื้อหรือขายหุ้นตัวไหนและเขาก็มักจะทำตามโดยไม่สนใจข่าวสารหรือประเด็นอะไรเกี่ยวข้องกับตัวหุ้น   เขาคิดว่าถ้ามีข่าว  ข่าวนั้นก็ถูกสะท้อนเข้าไปอยู่ในราคาและปริมาณการซื้อขายของหุ้นอยู่แล้ว  การนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์พิจารณาอีกก็จะกลายเป็นการซ้ำซ้อนและจะทำให้เกิดความผิดพลาด  ในกรณีแบบนี้เขาก็จะถูกเรียกว่าเป็นนักลงทุนแนวเทคนิค

นักลงทุนที่ถูกเรียกว่า Value Investor  นั้น  มักจะเป็นคนที่ต้องแสวงหาข้อมูลและวิเคราะห์พื้นฐานของกิจการอย่างถี่ถ้วนตั้งแต่การผลิตการตลาดการเงินและการแข่งขันของธุรกิจรวมถึงการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้น  การซื้อหุ้นนั้นจะต้องดูว่ามูลค่านั้นสูงกว่าราคาที่เป็นอยู่มากพอสมควรที่เรียกว่า Margin of Safety ส่วนการขายก็เป็นตรงกันข้ามนั่นก็คือ  ราคาสูงเกินมูลค่าที่เหมาะสมไปแล้ว  ดังนั้น  คนที่เป็น VI จึงมักจะถือหุ้นอยู่นานกว่านักลงทุนแนวอื่น  เพราะการเคลื่อนไหวของราคาอาจจะต้องใช้เวลา  นอกจากนั้น  มูลค่าพื้นฐานก็อาจจะเปลี่ยนไปด้วย

นักลงทุนบางคนนั้น  อาจจะใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ทั้งทางเทคนิคและพื้นฐานแบบ VI ในการตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้น  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  วิเคราะห์หุ้นที่จะซื้อหรือขายแบบ VI แต่จะซื้อหรือขายจริงก็ต้องรอให้เส้นกราฟทางเทคนิคบอกให้ทำ  ด้วยวิธีนี้เขาบอกว่าจะทำให้ไม่ผิดพลาดในการเลือกตัวหุ้นที่จะลงทุนเช่นเดียวกับที่ทำให้ไม่ต้องรอนานในการสร้างผลตอบแทน  แต่ถ้าพูดกันตามความจริง  ก็เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะใช้วิธีการแบบนี้  เหตุผลเพราะว่าคนที่เป็น VI ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ค่อยเชื่อในด้านของเทคนิคและก็มักจะไม่เรียนรู้วิธีที่จะทำ  ในขณะที่นักเทคนิคเองนั้น  เขาก็อาจจะคิดอยู่แล้วว่าข้อมูลด้านพื้นฐานนั้น  ถ้าบริษัทกำลังมีผลงานที่ดีราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นไปรองรับอยู่แล้ว  ไม่จำเป็นที่จะต้องดูข้อมูลด้านคุณค่า  ยิ่งนำมาคิดก็จะยิ่งสับสนทำให้พลาดการลงทุนในหุ้นหรือขายหุ้นเพราะ  “ไม่เชื่อกราฟ”

นักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะได้รับฉายาว่าเป็น  “เจ้า”  หรือเป็น “เซียน” ซึ่งมักจะมีขนาดของพอร์ตใหญ่ขึ้นหรือเป็นนักลงทุนที่มัก “เกาะ” ไปกับรายใหญ่ในการลงทุนนั้น  บางทีไม่ได้ลงทุนแบบ “Passive” ในแง่ที่ว่าพวกเขาศึกษาและใช้แต่ข้อมูลที่มีการประกาศต่อสาธารณะแล้ว  กระบวนการลงทุนของพวกเขาจะเป็นการหาข้อมูลที่ลึกซึ้งกว่าคนทั่วไปและมักจะมีการติดต่อพูดคุยกับผู้บริหารและ/หรือเจ้าของบริษัท  พวกเขาจะพยายามหา “ข้อมูลภายใน” โดยเฉพาะที่เป็นเรื่องสำคัญเช่น  ผลประกอบการที่กำลังจะประกาศในเร็ว ๆ  นี้  หรือข้อมูลอื่น ๆ  เช่น  การขยายเข้าไปทำธุรกิจเดิมหรือธุรกิจใหม่โดยการควบรวม  เป็นต้น

นอกจากเรื่องของบริษัทแล้ว  นักลงทุนแบบ “Active” ยังอาจจะพยายามเข้าไปมีอิทธิพลต่อการซื้อขายและราคาหุ้นของบริษัทด้วย  ซึ่งอาจจะรวมถึงการสั่งซื้อหุ้นจำนวนมากและชักชวนให้เพื่อนและนักลงทุนอื่น ๆ  เข้าไปซื้อหุ้นโดยการ “สร้างกระแส” ข่าวดีและความน่าสนใจของหุ้นพร้อม ๆ  กับราคาที่มักจะ “กระโดด”  เนื่องจากแรงซื้อที่มากเมื่อเทียบกับ Free Float ของหุ้นในตลาด  คนกลุ่มนี้บ่อยครั้งก็อาศัยการ Leverage หรือการกู้เงินจำนวนมากหรือใช้เครื่องมือขยายกำลังเช่น  การทำ Block Trade เพื่อที่จะสามารถเพิ่มพลังการซื้อของตนเป็น 10 เท่า เพื่อที่จะขับดันราคาหุ้นให้เป็นไปตามที่ต้องการได้  ดังนั้น  โดยสรุปแล้ว  กระบวนการในการเล่นหุ้นหรือลงทุนของ Active Investor แบบนี้ก็ต้องอาศัยการดำเนินการแบบเป็นกลุ่มที่ทุกคนต่างก็ช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกันโดยเฉพาะในช่วงแรก  อย่างไรก็ตาม  หลังจากที่หุ้นปรับตัวขึ้นไปมหาศาลแล้ว  การร่วมมือก็มักจะหมดไป  และจังหวะของการขายก็มักจะเป็นเรื่อง  “ตัวใครตัวมัน”

พูดถึงเรื่องของวิธีหรือกระบวนการการลงทุนแล้วเราก็ต้องตามมาด้วย “ผลตอบแทน”  หรือเงินที่จะได้รับจากการลงทุน  ผมเองมีความเชื่อว่าการลงทุนแบบ  “แมงเม่า” นั้น  ไม่น่าจะมีใครสามารถทำเงินได้เป็นเรื่องเป็นราว  ผมคิดว่าคนที่ทำนั้นเองก็อาจจะรู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นไม่สามารถที่จะเปลี่ยนชีวิตการเงินของตนเองหรือให้ผลตอบแทนที่ดีแก่ตนเองได้แม้ว่าจะทำให้  “มีความหวัง” ทุกวันคล้าย ๆ  กับคน “แทงหวย” หรือซื้อล็อตเตอรี่

ผมเองไม่เชื่อในการวิเคราะห์ทางเทคนิค  ดังนั้น  ผมก็ไม่ได้สนใจว่าจะมีใครสามารถทำเงินได้มาก ๆ  ด้วยวิธีนี้  ผมรู้สึกว่าการเล่นหุ้นด้วยกราฟนั้นมักจะทำให้ต้องซื้อ ๆ  ขาย ๆ  บ่อยมากซึ่งจะทำให้ต้องเสียค่าคอมสูงซึ่งถ้าทำไปนาน ๆ  โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงก็น่าจะยาก

วิธีคิดและกระบวนการลงทุนแบบ VI นั้น  ผมคิดว่ามันเป็นกระบวนการที่สนุกตื่นเต้นโดยเฉพาะคนที่สนใจเรื่องของธุรกิจและการแข่งขัน  มันต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์ในการวิเคราะห์กิจการและประเมินมูลค่าของหุ้น  มันต้องอาศัยจิตใจและการควบคุมอารมณ์ให้มั่นคงไม่วอกแวกต่อสิ่งเร้าที่จะทำให้เราตัดสินใจผิดพลาด  เราต้องรู้จักโลกและผู้คนที่อยู่รอบตัวในด้านต่าง ๆ  ทั้งหมดนั้นหมายความว่าเราต้องอ่านอย่างหนัก  และคนที่สามารถทำได้ดีกว่าคนอื่นก็น่าจะสามารถทำผลตอบแทนการลงทุนได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวด้วยความเสี่ยงที่ต่ำกว่า

การลงทุนอย่าง “Active” นั้น  บางครั้งหรืออาจจะบ่อยครั้งก็มักจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้กับคนที่ทำได้  กระบวนการที่เมื่อซื้อหุ้นแล้วก็พยายามทำกิจกรรมหลาย ๆ  อย่างเพื่อที่จะช่วยขับดันราคาหุ้นนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดเสมอไป  ในบางครั้งผมเองก็เข้าไป  “โวย” หรือแนะนำให้ผู้บริหารทำบางสิ่งบางอย่างที่จะทำให้บริษัททำรายได้หรือกำไรสูงขึ้น  หรือบางทีก็ไปเสนอให้บริษัทจ่ายปันผลในอัตราที่สูงขึ้นซึ่งน่าจะทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นได้  อย่างไรก็ตาม  การทำกิจกรรมที่คาบเกี่ยวกับกฎหมายหรือจริยธรรมเช่น การแสวงหาข้อมูลภายใน  การซื้อขายหุ้นในลักษณะที่เข้าข่ายหรือมีผลเท่ากับการ  “ปั่นหุ้น”  เพื่อที่จะขับราคาหุ้นให้ขึ้นไปผิดกับความเป็นจริงนั้น  ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่คุ้มค่า   จริงอยู่ในระยะสั้นบางครั้งมันก็ทำให้เราได้กำไรหรือได้เงินหรือได้ผลตอบแทนดีขึ้นกว่าปกติมาก  แต่ในระยะยาวแล้ว  ก็อาจจะพลาด  เสียหายอย่างหนักได้

การได้เงินมาก ๆ  นั้น  แน่นอนมันทำให้มีความสุข  แต่การมีวิธีการหรือกระบวนลงทุนที่ถูกต้องไม่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีหรือ  “ดิ่งเหว”  ก็เป็นเรื่องที่ทำให้เรามีความสุขไม่แพ้กัน  วอเร็น บัฟเฟตต์พูดเรื่องนี้ไว้ว่า  “We enjoy the process far more than the proceeds, though I have learned to live with those too.” ซึ่งแปลว่า  “เรามีความสุขกับกระบวนการลงทุนมากกว่าเงินที่ได้รับมาก  ถึงแม้ว่าผมจะได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน(เงิน)ด้วยเช่นกัน”  หรือสรุปง่าย ๆ  ก็คือ  จงสนุกกับการลงทุนและกระบวนการลงทุนที่ถูกต้อง  ส่วนเรื่องเงินนั้น—มันก็คงจะมาเอง  และคุณก็จะมีความสุขกับมันเช่นเดียวกัน!  คนที่คิดว่าจะใช้วิธีไหนในการลงทุนก็ได้  ขอให้ได้กำไรก็พอ นั้น  เขาอาจจะไม่ได้เงินหรือได้ก็ไม่ยั่งยืน  หรือถ้าได้เงินก็อาจจะไม่มีความสุขมากนักเทียบกับคนที่ใช้วิธีการลงทุนที่ถูกต้อง

ที่มาบทความ: http://www.thaivi.org/process-proceeds/

TSF2024