ราคาทอง Spot Gold ทำจุดสุงสุดเมื่อต้นปีไว้ที่ $1,360 ซึ่งในช่วงนั้น นักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างมองว่ามีโอกาสสูงที่ค่าเงินดอลล่าร์จะอยู่ในทิศทางอ่อนค่า ด้วยปัจจัยหลายปัจจัยด้วยกัน
ประการที่หนึ่งคือ ตลาดเริ่มเห็นสัญญาณเงินเฟ้ออันเกิดสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มปรับตัวขึ้นหลายจากอยู่ในภาวะตลาดหมีมาอย่างยาวนาน และการฟื้นตัวของตลาดหุ้นเกิดใหม่ในช่วงปี 2017 ซึ่งได้เหตุผลสนับสนุนจากเศรษฐกิจที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นจากแรงซื้อและการบริโภคภายในประเทศ ก็น่าจะทำให้เกิดอุปสงค์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจแถบนี้ได้ ประการที่สองคือ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯเอง อันเกิดจากปัจจัยการเมือง และฟองสบู่ในตลาดหุ้นโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ทำให้นักลงทุนมีความลังเลว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะสามารถปรับตัวขึ้นต่อไปได้หรือไม่
ซึ่งเมื่อผ่านมาเป็นระยะเวลา 8 เดือน เราก็ได้เห็นเฉลยข้อสอบแล้วว่า สิ่งที่นักลงทุนคิดเมื่อตอนต้นปี ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
กล่าวคือ ราคาน้ำมันอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นก็จริง แต่ก็มีความผันผวนในระดับสูง รวมถึงราคาสินค้าเกษตรในภาพรวมทั้งโลกก็ไม่ได้อยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อตลาดอย่างมากคือ เศรษฐกิจสหรัฐฯที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับคู่ค้าสำคัญอย่าง สหภาพยุโรป และ จีน
ผลของสงครามการค้าในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ค่าเงินดอลล่าสหรัฐฯแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดูได้จาก Dollar Index ซึ่งต้นปีลงไปทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 88.5 จุด ณ ปัจจุบันแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 95 จุด เนื่องจากนโยบายการคลัง การขึ้นภาษีนำเข้า และลดภาษีนิติบุคคลของสหรัฐฯ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของบริษัทภายในประเทศขึ้น (อย่างน้อยๆ ก็ในระยะสั้น)
อีกประเด็นหนึ่งคือ การลดขนาดงบดุลของเฟด ซึ่งเป็นการดูกลับสภาพคล่องส่วนเกิน ที่เคยไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ให้ไหลกลับเข้าไปสหรัฐฯอีกครั้ง ก็ทำให้นักลงทุนมองทิศทางค่าเงินดอลล่าร์ต่างไปจากที่เคยมองเมื่อปลายปีที่แล้ว
กลับมาที่พระเอกของบทความในวันนี้ นั่นคือ ทองคำ ซึ่งในช่วง 8 เดือนแรกของปี กลับกลายเป็นช่วงขาลงมาโดยตลอด จนไหลลงมาหลุด $1,200 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่าน แต่ก็เริ่มมีสัญญาณให้เห็นบางอย่างว่า การดีดกลับของราคาทอง และการใส่ทองไว้ใน Asset Allocation แม้จะเล็กน้อย ยังถือว่ามีความน่าสนใจ
เหตุผลแรก
ถ้าเราไปดูยอดซื้อขายสุทธิของกองทุนทองประเภท ETF ทั้งโลก จะพบว่า เป็นยอดขายสุทธิมา 13 สัปดาห์ติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นการขายยาวนานมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. ปี 2013 ในช่วงนั้นราคาทองไหลลงจากระดับ $1,800 จุด ลงมาถึงระดับ $1,200 ต้นๆ ก่อนมีแรงดีดกลับขึ้นมาที่ $1,400 ภายใน 3 เดือน ถ้ามองระดับราคาทองตอนนี้ ถึงแม้จะไม่ได้ปรับฐานจากจุดสูงสุดที่ $1,800 อย่างปี 2013 แต่ก็ลงมาอยู่แถวๆ แนวรับจิตวิทยาเช่นเดียวกันกับครั้งนั้นครับ
เหตุผลที่สอง
แรงขายของทองรอบนี้ อีกส่วนหนึ่งมาจากการผสมโรงของตลาดซื้อขายล่วงหน้า โดยจากข้อมูล Bloomberg พบว่า มี Net Short Position ใน Gold Futures เจ็ดหมื่นกว่าสัญญา จากต้นปีที่มี Net Long Position อยู่มากกว่า สองแสนสัญญา สะท้อนว่า มีแรงขายซ้ำที่ตลาด Futures ซึ่งหากทิศทางของค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯมีโอกาสกลับมาอ่อนค่า จะทำให้นักลงทุนที่ถือสถานะ Short ต้องทำการปิดสถานะ (Cover Short) จึงถือว่ามีโอกาสสูงมากที่จะทำให้ราคาทองดีดกลับมาได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้
เหตุผลที่สาม
สัญญาณอีกตัวหนึ่งที่ใช้ในการดูแนวโน้มราคาทองคือ Copper-to-Gold Ratio หรือ อัตราส่วนระหว่างทองแดง และทองคำ วิธีการคือ นำราคาทองแดงมาหารราคาทองคำ หากค่าที่ได้สูงขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่า ราคาทองแดงวิ่ง Outperform ราคาทองคำ ในทางตรงกันข้าม หากค่าที่ได้ลดลง แสดงให้เห็นว่า ช่วงนั้นราคาทอง Outperform ราคาทองแดง จากการทดสอบพบว่า Copper-to-Gold Ratio มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับขาขึ้นของราคาทองแดงและราคาทอง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี
ในยามนี้ ซึ่งเรารู้กันว่า อยู่ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ดังนั้น US Treasury Yield ก็ควรจะอยู่ในทิศทางขาขึ้นระยะยาว เมื่อพิจารณาจากความสัมพันธ์ในอดีตของ Copper-to-Gold Ratio แล้ว แปลว่า อัตราส่วนนี้ ควรค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นตามไปดู ดังนั้นในระยะยาว ราคาทองน่าจะยังคงเป็นทิศทางขาขึ้น เพียงแต่เราเจอความผันผวนช่วงสั้นนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาครับ
แต่ทั้งนี้ เพื่อความไม่ประมาท หากราคาทอง Spot Gold ลงมาต่ำกว่าระดับ $1,180 อีกครั้ง ก็แปลว่าระยะสั้น ทองจะยังไม่สามารถปรับตัวกลับมาเป็นขาขึ้นได้ ดังนั้นนักลงทุนก็ควรกำหนดจุด Stop Loss และมีวินัยการลงทุน รวมถึงถือทองในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งผมแนะนำที่สัดส่วนไม่เกิน 10-20% ของพอร์ตการลงทุนครับ
ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645405