หลายวันที่ผ่านมา ผมเจอคำถามว่า
“พี่ค่ะ ช่วยอธิบาย Re-balancing Portfolio อย่างง่ายให้ฟังหน่อย และ ควรทำตอนไหนบ้าง”
ผมเองก็ตอบแบบง่ายไปว่า
มันคือ ใช้วิธีการที่เรียกว่า “ซื้อของถูกเข้า ขายของแพงออก” จุดประสงค์ไม่ใช่เพราะผลตอบแทนดีที่สุด แต่เป็นเพราะ ต้องการให้ความเสี่ยงของ Portfolio กลับมาสู่ระดับเดิมที่วางแผนไว้
ก่อนการทำ Re-balancing portfolio เราจะต้องมีการกำหนดสัดส่วนการลงทุน หรือ การทำ Asset Allocation ซึ่งการทำ Asset Allocation ก็อาจจะมาจาก ระยะเวลาของเป้าหมาย หรือ ความเสี่ยงที่รับได้
ในบทความนี้จะไม่ขอลงรายละเอียด ผมจะขอยกตัวอย่างตามรูป เป็นการจำลองสถานการณ์
ปี 2014
สมมติให้ พอร์ตมีเงินอยู่ 100,000 บาท ตอนต้นปีที่ 2014 จัดพอร์ตแบบ 70% ลงทุนในหุ้น และ 30% ลงทุนในตราสารหนี้ สมมติให้ลงทุนใน SET Index
ปี 2015
SET Index ให้ผลตอบแทน 29% (คิดคร่าวๆ) และ ตราสารหนี้ให้ผลตอบแทน 2% (สมมติ) พอร์ตจะมีเงินอยู่ 121,000 โดยมีสัดส่วน หุ้น 75% และตราสารหนี้ 25% จึงทำการ Re-balancing Portfolio คือ การขายหุ้นส่วนเกิน 5% แล้วไปซื้อ ตราสารหนี้ อีก 5% สัดส่วนจะกลับมาเหมือนเดิม คือ หุ้น 70% และ ตราสารหนี้ 30%
ปี 2016
SET Index ให้ผลตอบแทน -23% (คิดคร่าวๆ) และ ตราสารหนี้ให้ผลตอบแทน 2% (สมมติ) พอร์ตจะมีเงินอยู่ 102,259 โดยมีสัดส่วน หุ้น 64% และตราสารหนี้ 36% จึงทำการ Re-balancing Portfolio คือ การขายตราสารหนี้ส่วนเกิน 6% และ ซื้อ หุ้นส่วนขาด 6% สัดส่วนจะกลับมาเหมือนเดิม คือ หุ้น 70% และ ตราสารหนี้ 30%
การปรับ Re-balancing Portfolio จะช่วยให้พอร์ตของเรามีความเสี่ยงอยู่ระดับเดิม
ข้อมูลจาก TFPA Bulletin ฉบับที่ 2 ปี 2556
เป็นข้อมูล จาก บ. Morning Star ที่ทำการวิจัยการลงทุนย้อนหลัง ปี 2546-2555
จากรอบสีเขียว จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่ ทำ rebalancing portfolio การลงทุน ปี 2546 – 2555 จะได้ผลตอบแทน 13.53% และความเสี่ยงอยู่ที่ 15.38% โดยปีที่ติดลบสูงสุดจะติดลบ -30.12% ขณะที่ ถ้าทำ rebalancing portfolio ทุกปี จะได้ผลตอบแทน 12.44% และความเสี่ยงอยู่ที่ 11.48% โดยปีที่ติดลบสูงสุดจะติดลบ -18.66%
ดังนั้นจุดมุ่งหมายของ การทำ Re-balancing Portfolio คือ จัดการเรื่องความเสี่ยง ให้กลับมาสู่ระดับเดิมที่วางแผนไว้
ควรทำ Rebalancing ตอนไหน?
1. กำหนดเป็นระยะเวลา เช่น 1 ปี ให้ทำการ rebalancing หนึ่งครั้ง
2. กำหนดเป็น Threshold ของสัดส่วนของ Assets Allocation เช่น จะปรับเมื่อ >= -+10% เดิมจัดสัดส่วนการลงทุน ยกตัวอย่าง สัดส่วนการลงทุนเดิมเป็น หุ้น 70% ตราสารหนี้ 30% ในสภาวะตลาดกระทิง ทำให้สัดส่วนการลงทุนเป็น หุ้น 80% ตราสารหนี้ 20% ก็ให้ rebalancing
Rebalancing portfolio ไม่ยากอย่างที่คิด ขอให้ลงทุนอย่างมีความสุข
-WealthGuru-