ท่ามกลางกระแสข่าวสารและสื่อสังคมต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย คุณเคยรู้สึกว่าชีวิตตัวเองวุ่นวายมั้ย?
เคยรู้สึกเครียด กังวล ไม่เป็นอันทำอะไร ว้าวุ่นกับการยกมือถือขึ้นมาเช็กโซเชียลเรื่อยๆ รึเปล่า?
แล้วเคยมั้ย? ที่รู้สึกว่าอยากจะปิดการรับรู้โซเชียลไปสักพัก ให้ชีวิตได้สงบสุขขึ้นบ้าง
อย่าแปลกใจถ้าคุณเคยเจอความรู้สึกเหล่านี้ ไม่ต้องห่วงว่าตัวเองเป็นคนนอกรึเปล่า เพราะอาการนี้คือสิ่งที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายๆ คนเริ่มเป็น แม้พวกเขาจะเสพติดการอัพเดตข่าวสารของคนรอบตัว แม้พวกเขาจะไม่อยากพลาดกระแสสังคม แม้พวกเขาจะอยากได้รับความสนใจ แต่ลึกๆ แล้วพวกเขากลับรู้สึก “เหนื่อย” โดยไม่รู้ตัว
แล้วทำไมพวกเขาถึงยังเสพติดการกระทำนี้? นั่นเป็นเพราะพวกเขามีอาการ Fear of Missing Out (FOMO) หรือความกลัวที่จะตามชาวบ้านไม่ทันนั่นเอง หลายๆ คนน่าจะคุ้นหูกับคำนี้กัน แต่รู้มั้ยว่าตอนนี้กำลังมีอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่จะมาสู้รบต่อกรกับ FOMO
จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากขั้วตรงข้ามอย่าง Joy of Missing out (JOMO)
แปลเป็นไทยก็คือความรู้สึกสุขสบายที่ไม่ต้องรับรู้ข่าวสารอะไร
ฟังแวบแรกอาจจะรู้สึกว่า เฮ้ย มันมีด้วยเหรออะไรแบบนี้ มีคนที่แฮปปี้กับการตกข่าว ตกเทรนด์ พลาดข้อมูลสำคัญด้วยเหรอ ในเมื่อชีวิตเรารายล้อมไปด้วยข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เราคิดว่ามี “คุณค่า” มากมาย ไม่ว่าจะจาก Facebook, LINE, Twitter, Instagram และแพลตฟอร์มอื่นๆ เราก็ควรจะต้องมีความสุขสิ ที่มีข้อมูลฟรีๆ มาเสิร์ฟให้อ่านถึงที่แบบนี้
แต่เพราะความง่ายแบบนี้แหละ ทำให้เกิดการล้นของข้อมูลข่าวสาร ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียจะได้รับข้อมูลเหล่านี้ไม่หยุดหย่อน บางทีพยายามหลบหนีแล้ว แต่พอเห็นสัญญาณแจ้งเตือนสีแดงๆ ทีไร ก็อดใจไม่ไหวต้องคลิกเข้าไปอัพเดตสถานการณ์ทุกที
พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ เข้า ผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายคนอาจจะรู้สึก “เอียน” หรือ “เบื่อ” กับการที่ต้องตามติดข้อมูลข่าวสารไม่เว้นวัน มีประโยชน์บ้างไม่มีประโยชน์บ้าง ยิ่งติดตามก็ยิ่งเสพติด ยิ่งเสพติดก็ยิ่งหมกมุ่น ยิ่งหมกมุ่นก็ยิ่งเครียด ไม่เป็นอันโฟกัสกับอะไรก็ตามที่กำลังทำอยู่ตรงหน้า ทำให้เกิดอาการอย่างที่กล่าวข้างต้นของบทความ
ตอนนี้เพื่อนเราไปเที่ยวไหนกันบ้าง? ดาราคนนั้นเลิกกับแฟนรึยัง? ทำไมหุ้นตัวนี้ถึงตก? ตอนนี้ตลาดหุ้นเคลื่อนไหวแบบไหน? คนอื่นๆ เค้าคิดยังไงกับประเด็นนี้บ้าง? คนอื่นๆ เค้าคิดยังไงกับ “เรา” บ้าง? ฯลฯ
ยิ่งผู้ใช้งานให้ความสนใจกับกระแสสังคมและความคิดเห็นของคนอื่นมากเท่าไร ผู้ใช้งานก็ยิ่งเสพติดมากเท่านั้น ถ้าไม่เสพติดมากอาจจะไม่รู้สึกว่ามีผลกระทบกับชีวิตเท่าไร แต่ถ้ามากเกินไปก็อาจจะทำให้ผู้ใช้งานเกิดอาการเครียดได้
นี่แหละคือต้นกำเนิดของ JOMO ซึ่งเปรียบเสมือนยาบรรเทาอาการติดโซเชียลมีเดีย เพราะ JOMO คือการตัดขาดจากโซเชียลมีเดียเพื่อที่จะได้ไม่ต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แล้วหันกลับมาให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตตรงหน้าแทน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ออกกำลัง ปลูกต้นไม้ พูดคุยกับครอบครัว ฯลฯ คนที่เคยรู้สึกว่าชีวิตตัวเองวุ่นวายเพราะโซเชียลมีเดียมักจะใช้วิธีนี้เพื่อปิดการรับรู้ไปชั่วคราว ผลลัพธ์ที่เรารู้มาก็คือพวกเขารู้สึกว่าชีวิตตัวเองสุขสบาย โล่งเบา เป็นอิสระ และมีความกังวลน้อยลงมาก
แม้ไอเดียนี้จะเป็นอะไรที่ดูเหมือนธรรมดา แต่ที่น่าสนใจคือตอนนี้กระแส JOMO เป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางมากในปีนี้ มีการอ้างอิงถึง JOMO ใน Instagram เป็นจำนวน 80,000 กว่าครั้ง เว็บไซต์ต่างๆ เริ่มนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ นี่อาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียเริ่มชะลอการใช้งานโซเชียลมีเดียลง แม้จะไม่ได้กำจัดออกไปจากชีวิตอย่างถาวร (เพราะนั่นคงเป็นไปไม่ได้) แต่พวกเขาก็เริ่มตระหนักได้ถึงด้านมืดของการเสพติดโซเชียลมีเดียแล้ว
ผลกระทบของ JOMO ต่อธุรกิจโซเชียลมีเดีย?
ล่าสุด หลายๆ คนอาจจะได้ยินข่าวราคาหุ้นของโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่าง Facebook ที่ตกพรวดพราดกว่า 20% ภายในวันเดียว อันเนื่องมาจากอัตรากำไรและยอดผู้ใช้ที่ไม่เติบโตตามที่ตลาดคาดหวัง โดยยอดผู้ใช้ต่อเดือน (Monthly Active User) ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมานั้นอยู่ระดับ 2.23 พันล้านคน ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ประมาณ 20% นอกจากนี้ทาง Facebook ยังประกาศอีกว่าในระยะเวลา 3 ปีต่อจากนี้ ยอดผู้ใช้งานทั่วโลกน่าจะคงอยู่ที่ระดับ 2.5 พันล้านคน (ประมาณ ⅓ ของประชากรโลก)
ทางด้าน Twitter ที่เพิ่งประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ก็เจอสถานการณ์เดียวกัน คือราคาหุ้นร่วงลง 27% ภายใน 2 วัน เมื่อทางบริษัทรายงานว่ายอดผู้ใช้ต่อเดือนได้ลดลง 1 ล้านคนเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา แถมยังประเมินว่ายอดผู้ใช้มีแนวโน้มลดลงในอนาคต ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกำจัดบัญชีผู้ใช้แปลกปลอม
ปรากฏการณ์ของ Facebook และ Twitter เป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้เห็นถึงความกังวลใจของนักลงทุนต่อยอดผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียที่ลดลง โดย Facebook เจอผลกระทบหนักหน่อย ซึ่งอาจจะเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่ Cambridge Analytica ดึงข้อมูลผู้ใช้ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
รายต่อไปที่นักลงทุนกำลังจับตามองคือ Snap ซึ่งเป็นหุ้นของ Snapchat ที่กำลังจะประกาศผลการดำเนินงานในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ โดยนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้แล้วว่าตัวเลขของ Snap ไม่น่าจะแตะระดับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ได้ และอาจจะเป็นอีกแรงกดดันต่อธุรกิจโซเชียลมีเดียต่อไป
อย่างที่รู้กันว่าโซเชียลมีเดียนั้นมีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะจำนวนผู้ใช้ ยิ่งมีผู้ใช้มากเท่าไรก็ยิ่งเปรียบเสมือนมีฐานที่แข็งแกร่ง และมีโอกาสสร้างรายได้มากขึ้นเท่านั้น เมื่อการเติบโตของผู้ใช้งานสะดุดลง ก็สามารถถูกเข้าใจได้ว่าความสามารถในการทำรายได้และกำไรของโซเชียลมีเดียนั้นน้อยลงไปด้วย แม้ว่าจริงๆ แล้วบริษัทจะสามารถสร้างกำไรได้จากผู้ใช้เดิม แต่การมีผู้ใช้ใหม่เข้ามาก็ย่อมเป็นสัญญาณการเติบโตที่ดีกว่า
จากข้อสังเกตนี้ เราอาจจะเข้าใจได้ว่ากระแส JOMO ส่งผลให้ยอดผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียชะลอตัวลงรึเปล่า? ด้วยความที่กระแส JOMO มาพร้อมๆ กันกับตัวเลขผู้ใช้งานที่น้อยลง แต่ ณ ตอนนี้เรายังไม่สามารถฟันธงได้ 100% ว่ายอดการเติบโตที่กระตุกไปนั้นเป็นผลมาจาก JOMO มากน้อยแค่ไหน เป็นไปได้ว่ามีสาเหตุอื่นๆ นอกจาก JOMO เช่น ระดับความเชื่อมั่นของผู้ใช้งานต่อมาตรการความปลอดภัยที่น้อยลง ผู้ใช้งานต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เป็นต้น
ถึงอย่างนั้น ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นโซเชียลมีเดียบางเจ้าออกเครื่องไม้เครื่องมือมาป้องกันไม่ให้คนเสพติดมากเกินไปแล้ว เช่น Instagram ที่ออกฟังก์ชั่นใหม่ชื่อ All Caught Up (แจ้งเตือนว่าคุณได้เห็นทุกโพสต์ในรอบ 2 วันที่ผ่านมา) Facebook ที่เพิ่งจะออกฟังก์ชั่น Your Time on Facebook (รายงานว่าคุณใช้เวลาบน Facebook ไปเท่าไรบ้าง)
สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณบอกว่ากระแส JOMO ได้รับการตอบรับจากธุรกิจโซเชียลมีเดียพอสมควร ปรากฏการณ์ JOMO จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าจะส่งผลต่อธุรกิจโซเชียลมีเดียได้ขนาดไหน และจะดำรงต่อไปได้อีกนานมั้ย บางทีนี่อาจจะเป็นแค่กระแสชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งตั้งใจให้เกิดขึ้นในช่วงที่โซเชียลมีเดียถูกรุมเร้าพอดี หรืออาจจะเป็นปรากฏการณ์ที่กำลังแผ่ขยายเป็นวงกว้าง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราก็อาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจโซเชียลมีเดียที่มากขึ้นไปอีก
สำหรับนักลงทุนที่ชอบลงทุนในบริษัทโซเชียลมีเดีย ก็อาจจะต้องลุ้นกับปรากฏการณ์นี้หน่อย แต่ที่แน่ๆ คือผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียน่าจะได้ประโยชน์จากลูกเล่นใหม่ๆ ที่โซเชียลมีเดียแต่ละเจ้าพยายามนำเสนอละ
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.itweb.co.za
https://www.forbes.com
https://www.psychologytoday.com
https://www.cbc.ca
https://www.marketwatch.com
https://www.cnbc.com
http://www.dailymail.co.uk
https://thenextweb.com
https://smallcaps.com.au