The Key Factor : 4 Indicator ที่น่าจับตากำลังส่งสัญญาณอะไร

หลังจากมุมมองครึ่งปีหลังของ FINNOMENA Investment Team ได้ออกสู่สายตาผู้อ่านทุกท่าน และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในแง่ของการสอบถามถึงที่มาของมุมมองและกลยุทธ์ที่จะใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งมี 2 คำถาม ยอดนิยมก็คือ 1.ทำไมตัวเลขการส่งออกของเกาหลีจึงสำคัญ และตัวเลขดังกล่าวบอกอะไรกับนักลงทุน 2.ทำไมตัวเลขอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ High Yield จึงสำคัญ และบ่งบอกถึงอะไร มาดูกันใน THE  KEY FACTORS ประจำสัปดาห์นี้กันเลยครับ

1. ตัวเลขการส่งออกของเกาหลีที่ลดลง

เกาหลีประเทศเล็กๆ เมื่อเทียบกับทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐและจีน แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เกาหลีนั้นมีขนาดทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ เป็นอันดับที่ 12 ของโลก ซึ่งพึ่งพาการส่งออกถึง 42% ด้วยตัวเลขส่งออกกว่า 515,000 ล้าน ดอลลาร์ต่อปี คิดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก โดยคู่ค้าหลักของเกาหลีนั้ก็ไม่ใช่ใคร คือสหรัฐ และ จีน โดยสินค้าหลักที่ส่งออกคือแผงวงจรอิเล็กโทรนิคส์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมต่างๆ

ดังนั้นแล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่ยอดการส่งออกของเกาหลีมีแนวโน้มชะลอตัวลง นั่นหมายถึงการสั่งสินค้าจากประเทศมหาอำนาจทั้งสองที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งอาจหมายถึงการลงทุนทางธุรกิจที่ลดลง และการชะลอตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนได้

เมื่อประกอบกับกราฟข้างต้น ที่แสดงให้เห็นว่าทุกครั้งที่ยอดส่งออกของเกาหลีนั้นลดลง มักจะตามมาด้วยกำไรของบริษัทจดทะเบียนลดลง ก็ยิ่งเป็นอีกสิ่งที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองส่วนได้เป็นอย่างดี

2. อัตราผลตอบแทน High Yield Bond ที่สูงขึ้น

High Yield Bond หรืออีกชื่อที่คนรู้จักว่า Junk Bond คือ ตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ หรือมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูง เมื่อบริษัทเหล่านี้ที่มีความเสี่ยงสูง ออกตราสารหนี้จำหน่ายแก่ประชาชน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้อัตราผลตอบแทนที่มากกว่าตราสารหนี้ทั่วไป เพื่อให้นักลงทุนสนใจที่จะลงทุนในบริษัทของตน เพราะต้องรับความเสี่ยงมากขึ้น

ในยามที่เศรษฐกิจดี นักลงทุนก็จะคลายความกังวลต่อตราสารหนี้ดังกล่าว ทำให้มีการลงทุนที่มาก เพราะหากเศรษฐกิจยังดีอยู่ โอกาสผิดนัดชำระหนี้ก็จะน้อยลงตาม แต่ยามใดก็ตามที่นักลงทุนเริ่มมองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ไม่ดี ตราสารหนี้เหล่านี้ก็จะเป็นกลุ่มแรกๆในตราสารหนี้ที่ถูกเทขายออกมา เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ทการลงทุนโดยรวมลงจากการถูกผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทน หรือ Yield มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นยามเศรษฐกิจไม่ดี และเมื่อความกังวลมีมาก นักลงทุนที่ประสงค์จะซื้อตราสารหนี้ดังกล่าวต่อจากผู้ถือตราสารเดิม ก็ย่อมต้องการส่วนชดเชยความเสี่ยง (Risk premium) ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หากนำอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นมาพล็อตเป็นกราฟ ก็จะเห็นเป็นความชันที่มากยิ่งขึ้น

ดังนั้นแล้ว ภาพข้างต้นก็จะสามารถสะท้อนอารมณ์และมุมมองของนักลงทุนได้เป็นอย่างดีว่าเชื่อมั่นในเศรษฐกิจมากหรือน้อยเพียงใด

3. ทองเป็นอย่างไรในแต่ละเดือน

อีก 1 ข้อสงสัยของนักลงทุนจำนวนมากคือ ทำไมทองซึ่งเป็น 1 ในสินทรัพย์ที่ FINNOMENA Investment Team แนะนำให้ถือลงทุนในพอร์ทเพื่อลดความผันผวน ถึงยังไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ทการลงทุนได้สักที

โดยทั่วไปแล้วการขึ้นลงของทองนั้นมีมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งในเรื่องของค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับทอง ความเสี่ยงของตลาดโลก Demand&Supply รวมไปถึง Seasonality ด้วย

จากกราฟข้างต้น จะเห็นได้ว่าเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนนั้นเป็น 2 ใน 4 เดือนที่มีอัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของทองเป็นลบ และกล่าวได้ว่ามีแนวโน้ม Side Way ในช่วงวันซื้อขายดังกล่าว

4. Philadelphia FED Leading Index มีแนวโน้มลดลง

Philadelphia FED Leading Index หรือ ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจของ FED สำนักฟิลาเดลเฟีย คือดัชนีนำทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า ว่าจะมีแนวโน้มเป็นเช่นไร ซึ่งในกราฟนี้ ได้มีการนำมาพล็อตคู่กับ ISM Manufacturing

ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้มาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโรงงานว่ามีกาารสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มหรือลดลงเช่นไร ซึ่งหมายถึงการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือยอดขายว่าหากมีแนวโน้มเติบโตที่ดีแล้ว การสั่งซื้อก็ย่อมมีมากขึ้นเพื่อรองรับต่อการเติบโตดังกล่าว แต่หากผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อมองว่าเศรษฐกิจ หรือยอดขายนั้นมีแนวโน้มชะลอตัว ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อก็ชะลอการจัดซื้อลง เพื่อมิให้สินค้าคงคลังมีเหลือมากเกินไป ซึ่งกลายเป็นการเสียโอกาสและเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็นให้องค์กรของตน

และมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน โดยมี Leading Index นำอยู่ประมาณ 8 เดือนเสมอ ซึ่งหมายถึง ณ ตอนนี้ที่ Leading Index มีการกลับตัวลง อาจหมายถึงการลดลงของ ISM Manufacturing ได้ ซึ่งหมายถึงอาจเห็นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้นี้

ซึ่งมีแนวโน้มสอดคล้องกับยอดการส่งออกของเกาหลีที่ลดลงในแง่ของการสั่งสินค้าที่ลดลง และสอดคล้องต่อความรู้สึกของนักลงทุนที่แสดงออกผ่าน High Yield Bond Spread ข้างต้น

นี่คือ The Key Factor ครั้งนี้และมุมมองการลงทุนประจำปี

https://www.finnomena.com/finnomena-ic/creating-portfolio-immunity/ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะช่วยคลายความสงสัย และเพิ่มความระวังในการลงทุนของนักลงทุนทุกท่าน

ทั้งหมดนี้ก็เป็น The Key Factors รายงานจาก FINNOMENA Investment Team ที่นำมาฝากทุกท่านประกอบการตัดสินใจลงทุนในวันนี้ ขอให้ทุกท่านโชคดีในการลงทุนครับ