เงินหมด! ต้องใช้เงินกะทันหัน ไม่มีเงินแล้ว ต้องขาย LTF แล้ว แต่ยังถือไม่ครบกำหนดเงื่อนไขเลย แบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น
เดี๋ยวก่อน ไม่ต้องตกใจไป เรื่องมันไม่ร้ายแรงอย่างที่คิด
LTF หรือ Long Term Equity Fund คือกองทุนรวมที่สนับสนุนการลงทุนและเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดหลักทรัพย์ไทย โดยเงินลงทุนใน LTF จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้หากถือจนครบกำหนด โดยปัจจุบันกำหนดอยู่ที่ 7 ปีปฏิทิน
แล้วหากจำเป็นต้องขาย LTF ก่อนจะเกิดอะไรขึ้น?
สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลักๆ มี 2 อย่าง คือ 1 หากมีกำไรจากการขายต้องนำเงินไปคำนวณภาษีเงินได้ และ 2 หากใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีไปแล้วต้องคืนเงินให้สรรพากร
1. หากมีกำไรจากการขายต้องนำเงินไปคำนวณภาษีเงินได้
โดยปรกติ กำไรจากส่วนต่างของมูลค่ากองทุนรวมจะได้รับยกเว้นภาษีตามกฎหมาย เช่น หากซื้อกองทุนรวมมาหน่วยละ 10 บาท ขายไป 12 บาท กำไร 2 บาท แบบนี้ไม่เสียภาษี แต่ถ้าหากเราขาย LTF อย่างผิดเงื่อนไขแล้วมีกำไรตรงส่วนนี้ เราต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตรงนี้ด้วย โดยจะคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) และเสียภาษีตามฐานเงินได้สุทธิ
2. หากใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีไปแล้วต้องคืนเงินให้สรรพากร
เงินส่วนลดจากสิทธิ์ลดหย่อนภาษีที่ได้มาต้องนำส่งคืนสรรพากรทั้งหมด และต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อเดือนด้วย นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เช่น ซื้อ LTF ได้ลดหย่อนไป 10,000 บาท และมาขายในเดือนกันยายน เราก็ต้องนำส่งเงินจากสิทธิ์ลดหย่อนคืน พร้อมดอกเบี้ยอีก 1.5% ในช่วง 1 เมษายนจนถึงวันที่คืน
หลักการพิจารณาจึงคิด 2 เรื่องคือ มีกำไรไหม? และลดหย่อนไปหรือยัง?
หากมีกำไรก็ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากลดหย่อนไปแล้วก็ต้องคืนค่าลดหย่อนพร้อมดอกเบี้ย ดังนั้น หากขายตั้งแต่ปีแรกแบบที่ยังไม่ได้ลดหย่อน แถมไม่มีกำไรด้วย แบบนี้เราก็ไม่ต้องเสียอะไร เป็นต้น
แต่บางกรณีก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีหรือโดนค่าปรับเพิ่ม
หากขาย LTF เนื่องจากกรณีทุพพลภาพและต้องการนำเงินมาใช้จ่ายในชีวิต โดยต้องเป็นกรณีที่แพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพซึ่งก่อให้เกิดเงินได้ที่จะนำมาซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวต่อไปได้ ถึงจะสามารถยกเว้นภาษีและค่าปรับได้
การลดหย่อนภาษีด้วย LTF จึงต้องวางแผนภาษีล่วงหน้า
หากซื้อๆ ขายๆ โดยไม่มองภาพยาวไว้ก่อน อาจโดนภาษีและค่าปรับจนหลังอานได้ แถมตอนขาย บลจ.ยังต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับคนที่ทำผิดเงื่อนไขไว้ด้วย ดังนั้น ถ้ารู้ว่าผิดก็รีบไปติดต่อสรรพากร ก่อนที่ค่าปรับดอกเบี้ยจะบานปลายเด้อ
ลงทุนศาสตร์ – Investerest