นับตั้งแต่ต้นปี 2018 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) เจอกับแรงขายของนักลงทุนต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง
บทความนี้พาทุกคนย้อนไปดูต้นตอของปัญหาเงินทุนไหลออก พร้อมกับอัพเดทสถานการณ์ปัจจุบันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ความผันผวนของตลาดทุน เกิดขึ้นครั้งแรกของปีนี้เมื่อช่วงปลายเดือนม.ค. ถึงต้นเดือนก.พ. สาเหตุมาจาก การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ขึ้นมาทะลุระดับ 3% เพราะตัวเลขเงินเฟ้อที่ดีกว่าคาดของทางสหรัฐฯ และทำให้นักลงทุนกังวลว่า จะมีเงินลงทุนไหลกลับเข้าสหรัฐฯ
เมื่อรวมกับทิศทางการดำเนินนโยบายของปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีความตั้งใจจะตั้งกำแพงภาษีนำเข้ากับจีนในวงเงินรวม 5 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า อาจจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เองในระยะสั้นจากการที่สามารถลดการขาดดุลการค้าได้ และช่วยให้ผู้ประกอบการในประเทศค้าขายได้ จึงเร่งให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ แข็งค่ามากขึ้นอีก
ดอลล่าร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ก็แปลว่า สกุลเงินประเทศอื่นๆ อ่อนค่าเมื่อเปรียบเทียบกับดอลล่าร์ ตรงนี้จึงมากระทบกับประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่มีการกู้ยืมเงินในสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูง ขณะที่อาจจะมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับต่ำ พอเป็นแบบนี้ นักลงทุนที่มีมุมมองว่าดอลล่าร์จะแข็งค่าในระยะยาวเลยพิจารณาลดพอร์ตการลงทุนในประเทศเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น บราซิล, ตุรกี, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และแอฟริกาใต้
ภาพเหตุการณ์เริ่มชัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากการประชุมเฟด ซึ่งปรับขึ้น Fed Fund Rate อีก 0.25% ขึ้นมาที่ 1.75%-2.0% และส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ โดยดูได้จากประมาณการ Dot Plot ที่มีคณะกรรมการเฟด เห็นว่าควรปรับขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ 4 ครั้ง จากเดิมมีเพียง 7 ท่านจาก 15 ท่านในการประชุมเดือนมี.ค. เพิ่มมาเป็น 8 ท่านในการประชุมสัปดาห์ที่แล้ว ถือว่าสร้างเซอร์ไพรส์ให้ตลาดเล็กๆ เพราะนักลงทุนคาดการณ์กันก่อนหน้านี้ไปแล้วว่า ความเสี่ยงด้านการเมืองในอิตาลี และสเปน อาจจะทำให้เฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไป เมื่อเป็นเช่นนี้ เลยทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางและระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นมาอีกรอบทันที
แต่ประเด็นที่เป็นตัวทริกเกอร์การไหลออกของเงินทุนสกุลอื่นๆ เข้าสหรัฐฯ ก็มีอีก 2 ประเด็น คือ การส่งสัญญาณลดขนาดโครงการ QE ของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งตลาดคาดกว่าจะยุติโครงการตั้งแต่เดือนก.ย. ปีนี้ แต่กลายเป็นว่า จะค่อยๆ ถอยโดยลดจาก 30,000 ล้านยูโรต่อเดือน เหลือ 15,000 ล้านยูโรต่อเดือนมีเดือนก.ย. และค่อยยุติโครงการอย่างถาวรในเดือนธ.ค. พร้อมส่งสัญญาณว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับ 0% ต่อไปอีกอย่างน้อยๆ 1 ปี สิ่งนี้จึงทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าทันทีหลังทราบผลการประชุม
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การลดขนาดงบดุลของเฟดตั้งแต่ต้นปี 2017 ด้วยการปล่อยให้พันธบัตรที่ครบกำหนดไม่ Rollover ต่อ เท่ากับเป็นการดูดซับสภาพคล่องอีกทาง เมื่ออุปทาน (Supply) มีมากขึ้น ก็เลยทำให้ตราสารหนี้ลดลงตามไปด้วย หากใครที่ถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ เยอะๆ เห็นแนวโน้มเช่นนี้ ก็ต้องมีความคิดจะลดการถือครองลงเช่นเดียวกัน ซึ่งข้อมูลจาก Bloomberg.com พบว่า จีนซึ่งมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมูลค่าราวๆ 3.16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อตอนปลายเดือนม.ค. ปีนี้ ล่าสุดสิ้นเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา เหลือ 3.11 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ คิดเป็นการลดลงราวๆ 5 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 4 เดือน แปลว่า จีนเอง ก็อาจมีการขายพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสัดส่วนเยอะมากที่สุดในทุนสำรองระหว่างประเทศหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดนะครับ
ประเทศอื่นๆในตลาดเกิดใหม่ ที่สะสมเงินทุนสำรองในสกุลดอลล่าร์มากๆ ก็มีพฤติกรรมคล้ายๆ กับจีน ก็คือ พยายามสกัลการไหลออกของเงินทุน ไม่ว่าจะด้วยการขยับขึ้นดอกเบี้ย หรือ การนำเงินทุนสำรองไปพยุงค่าเงินไว้ไม่ให้อ่อนค่ารุนแรงเกินไป ซึ่งการขายเงินทุนสำรองของเหล่าธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่ นักวิเคราะห์ก็ให้คำนิยามไว้ว่า มันคือการทำ Quantitative Tightening หรือ “QT” ซึ่งคำนี้ นักวิเคราะห์จากซิตี้กรุ๊ปเคยตั้งนิยามไว้ตั้งแต่ปี 2015 ตอนที่เฟดประกาศยุติโครงการ QE
อย่างที่บอกตอนต้นนะครับว่าบทความนี้ตั้งใจพาทุกท่านไปเห็นต้นตอของเงินลงทุนไหลออกในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้พยายามพยากรณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นเหตุการณ์และสถานการณ์การลงทุนของโลกหลังจากนี้ ก็คงต้องวิเคราะห์จากมุมมองอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้เราได้ข้อมูลหลายทางในการตัดสินใจกำหนดกลยุทธ์การลงทุนครับ
ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644893