หุ้นเวียดนาม ซื้อ ถือ หรือ ขาย? เปิดด้านมืดที่คนไม่ค่อยพูดถึง

หลายท่านอาจจะกำลังครุ่นคิด ว่าทำอย่างไรดี เพราะหุ้นเวียดนามดิ่งรวดกว่า 20% จากยอดโดยทำ low ที่ 916 ก่อนจะเด้งกลับขึ้นมาอยู่บริเวณเหนือ 1000 ได้ เชื่อว่าตรงจุดนี้เป็นจุดที่นักลงทุนหลายท่านกำลังตัดสินใจว่าจะวางกลยุทธ์อย่างไร จะลงทุนดีไหม? จะซื้อเพิ่มดีไหม? กำไรขายก่อนดีไหม? รอก่อนดีไหม? หรือต้อง Cut Loss?

BottomLiner จะบอกด้านดี และด้านมืดที่ไม่ค่อยมีใครรู้หรือพูดถึงของหุ้นเวียดนามให้ เพราะเวียดนามนั้นดูเป็นแอปเปิลที่หอมหวานจากภายนอกแต่ภายในนั้นอาจจะเน่าเฟะบ้าง มิได้สมบูรณ์ดั่งรูปลักษณ์ภายนอก แล้วตัดสินใจกันเองนะครับ

หลายท่านน่าจะฟังด้านดีจนเบื่อแล้ว มาดูด้านมืดของตลาดหุ้นเวียดนามกันก่อนดีกว่า

ด้านมืดของหุ้นเวียดนามที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง

ท่ามกลางกระแสความ Panic จากการโดนกระหน่ำขายในตลาดหุ้น Emerging และ Frontier แน่นอนว่าเวียดนามก็ต้องโดนลูกหลงไปด้วยอยู่แล้ว คราวนี้ลองมาดูกันว่ามีความเสี่ยงอะไรซ่อนอยู่อีกบ้าง

1. World Bank ชี้ว่าหนี้สาธารณะของเวียดนามยังคงสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาค

อยู่ที่ 61.3% ของ GDP มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะชนเพดานหนี้ที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 65% ในปีนี้ และเวียดนามยังขาดดุลการคลังอยู่ที่ 4.7% ของ GDP อีกด้วย

2. การแก้ปัญหาเรื่อรังที่ยังคาราคาซังอยู่ 

เช่นหนี้เน่าหรือ NPL ในเวียดนามที่พุ่งขึ้นมาอยู่ประมาณ 8 แสนล้านบาท ถ้าลงทุนในเวียดนามมานานจะรู้ว่าปัญหานี้มีมานานมากแล้ว รัฐบาลแก้เกมโดยการเปิด VAMC ในปี 2013 (หน่วยงานบริหารหนี้เน่าเหมือน BAM หรือ FIDF บ้านเรา) หน่วยงานนี้รับหนี้เน่าจากธนาคารในเวียดนามมาแล้วกว่า 4 แสนล้านบาท แต่เพิ่งจะจัดการกับหนี้เน่าได้ไม่กี่เปอร์เซนต์เท่านั้น สะท้อนถึงการแก้ปัญหาต้นเหตุไม่ตรงจุด เหมือนแค่ย้ายหนี้เน่าออกจากบัญชีไปอีกบัญชีหนึ่งเท่านั้น สถานการณ์ในเรื่องนี้ค่อนข้างแตกต่างกับตอนสมัยของไทยซึ่งหนี้ด้อยคุณภาพส่วนใหญ่มาจากเอกชน ไม่ใช่มาจากธุรกิจรัฐที่รัฐบาลเวียดนามหรือจีนพยายามที่จะพยุงไม่ยอมปล่อยให้ล้ม ซ้ำร้ายการบริหารของของภาครัฐก็มักด้อยประสิทธิภาพและไม่โปร่งใสยากต่อการปรับโครงสร้าง

3. มีการคาดการณ์ว่าจะมีธนาคารเวียดนามมากถึง 10 แห่ง จากจำนวน 39 แห่งหลักๆ ของเวียดนามที่จะยื่นล้มละลาย 

หลังจากที่รัฐบาลเพิ่งบังคับใช้กฏหมายเมื่อช่วงต้นปี อนุญาตให้ธนาคารที่จมอยู่ในกองหนี้สามารถยื่นล้มละลายได้  โดยที่ประกันเงินฝากถูก cap ไว้ที่ 3,300 ดอลลาร์ แต่ก่อนที่จะมาถึงลูกค้าที่ฝากเงิน ธนาคารที่ล้มละลายจะต้องส่งสินทรัพย์ไปยังกรมสรรพสามิตเสียก่อน นักวิเคราะห์หลายแห่งจึงมองว่ามีความเสี่ยงที่เงินจะมาไม่ถึงลูกค้าโดยเฉพาะธนาคารที่มีทุนจดทะเบียนต่ำ ด้วยหนี้สาธารณะที่สูง รวมทั้ง Reserve ที่ค่อนข้างต่ำ (External Debt สัดส่วนเป็น 150% ของ Reserve) รัฐบาลจึงมีทรัพยากรที่ค่อนข้างจำกัดในการ Bail Out ธนาคารเหล่านี้ รวมทั้งความสามารถในการรักษาสมดุลของระบบการเงินด้วย

นี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมธนาคารต่างประเทศหลายแห่งทยอยขายสินทรัพย์ออกจากเวียดนามเป็นขบวนพาเหรดโดยเฉพาะปีที่แล้ว อาทิ  BNP Paribas ที่ขายหุ้นทั้งหมดใน OCB หลังจากที่เป็น Partner กันมาร่วม 10ปี, Standard Charter ขายหุ้นทั้งหมดใน ACB, Common Wealth Bank of Australia ขายสินทรัพย์ในโฮจิมินห์, HSBC ถอนการลงทุนใน Techcombank และ ANZ ก็ขายสินทรัพย์ออกมาเช่นกัน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเอาซะเลย

4. อีกจุดหนึ่งที่น่าจับตามองคือการตรึงค่าเงินดองกับดอลลาร์ 

ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ กำลังกดดันประเทศทั้งหลายที่ตรึงค่าเงินกับดอลลาร์ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นพึ่งพาการส่งออกหลายประเทศในกลุ่มนี้เริ่มมีการพูดถึงการล้มเลิกการตรึงค่าเงิน อาทิ UAE และไม่นานมานี้ก็มีหลายประเทศที่เลิกการตรึงไปแล้วเช่น Venezuela, Nigeria, Angola  เพราะมีผลพวงกับเงินสำรองระหว่างประเทศ

การอ่อนค่าอย่างรุนแรงของค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในปัจจุบัน จะมีผลต่อการแข่งขันเรื่องราคากับสินค้าจากเวียดนาม

คราวนี้มาดูด้านดีของหุ้นเวียดนามกันบ้าง (ซึ่งส่วนใหญ่คงทราบ)

1. สิ่งแรกที่สร้างความหอมหวานเย้ายวนให้กับหุ้นเวียดนามคงหนีไม่พ้น การเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีมากๆ ในช่วง 5 ปีมานี้

ล่าสุด World Bank ได้มีการปรับการประเมินการการเติบโต GDP ของเวียดนามขึ้นเป็น 6.8% ซึ่งสูงที่สุดในแถบอาเซียนเลยทีเดียว แน่นอนว่าตัวเลขส่งออกก็แข็งแกร่งที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาค

2. โครงสร้างประชากรของเวียดนามอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า Demographic Dividend

หมายถึง ประชากรวัยหนุ่มสาวมีสัดส่วนที่เยอะ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ สำหรับประเทศที่เน้นการเติบโตทางอุตสาหกรรมการผลิต

3. ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามมียอดการเปิดบริษัทใหม่ซึ่งทำลายสถิติสูงสุดที่จำนวน 41,300 บริษัท

โดยมีทุนจดทะเบียนรวมกันกว่า 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 560,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าความมั่นใจในแนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามในระดับที่สูง

4. การลงทุนทางตรงจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment : FDI) ยังคงโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยปีที่แล้วเวียดนามมี FDI ทั้งหมดประมาณ 35,000 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 1 ล้านล้านบาท โตขึ้น 44% จากปีก่อนหน้า ที่เด่นชัดๆ ก็คงเป็น Samsung ที่ลงทุนในเวียดนามไปแล้วกว่า 500,000 ล้านบาท ปัจจุบันโรงงานของ Samsung ในเวียดนามผลิตสินค้าถึง 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์ของ Samsung ทั่วโลกแล้ว และ Samsung ยังมีสัดส่วนเกือบ 25% ของยอดส่งออกของเวียดนามปีที่แล้วทั้งหมดอีกด้วย

ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ในขณะที่สินค้าส่งออกของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคส่วนใหญ่จะเป็นประเภทวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบไปยังประเทศจีนเพื่อประกอบให้สมบูรณ์ สินค้าส่งออกหลักๆ ของเวียดนามกลับเป็นสินค้าสำเร็จรูป

5. ช่วงปีที่ผ่านมา มีนโยบายกระตุ้นจากภาครัฐ

เช่น การผ่อนคลายในการครอบครองหุ้นและที่ดินของต่างชาติ ซึ่งเปิดทางให้สถาบันและกองทุนหลายแห่งเข้ามาลงทุนทั้งในหุ้นและอสังหาริมทรัพย์อย่างคับคั่งไม่ว่าจะเป็น กองทุนชั้นนำระดับโลกอาทิ Tundra Fonder จากสัญชาติสวีเดน ที่มีชื่อเสียงจากความสำเร็จในการลงทุนที่ปากีสถาน, Asia Frontier Capital ซึ่งอ้างว่ากองทุนที่ลงทุนในเวียดนามมีผลกำไรไปแล้วกว่า 90% หรือ Mutual Fund Elite กองทุนระดับโลกที่ออกจากไทยไปหาผลตอบแทนในเวียดนาม

กองทุนไทยเราก็ไม่น้อยหน้า เข้าไปลงทุนอยู่หลายกองเช่นกัน และยังมีอีกหลาย บลจ. ที่มีแผนจะเปิดกองทุนเพื่อลงทุนในเวียดนามด้วย

6. รัฐบาลเวียดนามมีแผนที่จะขายหุ้นที่รัฐบาลถือใน 121 รัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้

ทั้งที่ List อยู่ในตลาดหุ้นอยู่แล้วและที่กำลังเข้ามา IPO ด้วย เช่น 35% ในบริษัท Domesco Medical Import Export, 36% ใน Vietnam Vegetable Oil Industry , 6% ใน FPT, 3% ใน Bao Viet Holding และอื่นๆ อีกมากมาย โดยปีที่แล้วเวียดนามสามารถระดมทุนจาก IPO ได้ถึง 6,000 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 2 แสนล้านบาทเลยทีเดียว IPO ที่ฮือฮาปีที่แล้วก็อย่างเช่น Sabeco

โออ ดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน แต่คราวนี้จะซื้อ จะถือ จะขาย ก็คงต้องแล้วแต่หุ้นที่ท่านเลือก แต่จะสังเกตว่ามันยังมีปัญหาค้างคาอยู่ ผมคงฟันให้ไม่ได้ เพราะผิดกฎครับ ถึงได้ก็ไม่ฟันให้ครับ การตัดสินใจอยู่ที่ตัวท่านเองดีที่สุด ให้ข้อมูลไปแล้ว หุ้นคือการลงทุนระยะยาว หากเก็งกำไร ก็อีกเรื่องหนึ่ง

แต่ถ้าหลงเข้าไปแล้วเพราะฟังเขามา อันนี้ก็ให้ย้อนไปถามตัวเองครับ ว่ารับความเสี่ยงได้รึเปล่า ตอบได้แค่ว่า สำคัญที่สุดลงทุนแล้วต้องนอนหลับครับ

#BottomLiner

—————————-

Vithan Minaphinant

Securities Investment Analyst (IA)

ตรวจทานบทความ

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผู้เขียนบทความนี้มิไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด | ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้