เคยสังเกตกันหรือเปล่าว่า ยิ่งเวลาผ่านไปตลาดหุ้นไทยมักมีอาการแปลกๆ คือเมื่อเวลาหุ้นขึ้น ก็จะพุ่งอย่างรุนแรง ส่วนเวลาหุ้นลง ก็จะดิ่งลงอย่างรุนแรง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอะไร หรือมีมือที่มองไม่เห็นในตลาดหุ้น?

บล.ทิสโก้ วิเคราะห์ว่า โดยสภาวะของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันนี้ จะพบได้ว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีเคลื่อนไหวในทิศทางขาขึ้นและลงได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยในยุคใหม่ที่เรียกได้ว่ามีอิทธิพลอย่างมาก ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจที่จะต้องรู้ให้เท่าทันเช่นกัน

อิทธิพลบล็อกเทรด

ก่อนอื่นคงต้องปูพื้นให้ฟังสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย ถึงการลงทุนแบบ “บล็อกเทรด” ก่อนว่า การซื้อขายแบบนี้ เป็นวิธีการการซื้อขายรูปแบบหนึ่งที่บริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) จะทำหน้าที่เป็นคู่สัญญาให้กับนักลงทุนในการซื้อสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) ประเภท Single Stock Futures (SSF) ที่อ้างอิงหุ้นใน SET50 และ SET100 โดยมีข้อแม้ว่านักลงทุนจะต้องซื้อสัญญา SSF เป็นจำนวนขั้นต่ำตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมาจากตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งการจับคู่การซื้อขายสัญญาระหว่างผู้ซื้อและบริษัทหลักทรัพย์ จะเรียกกันว่า “บล็อกเทรด”

โดยวิธีการก็คือ หากนักลงทุนต้องการเปิดสถานะซื้อล่วงหน้า (Long) เพราะมองว่าราคาหุ้นอ้างอิงของ SSF จะปรับตัวขึ้น โบรกเกอร์ก็จะมารับหน้าที่เป็นคู่สัญญาด้วยการเปิดสถานะขายล่วงหน้า (Short) หลังจากนั้นเมื่อราคาหุ้นขยับขึ้น SSF ก็จะปรับตัวขึ้นด้วย ซึ่งนักลงทุนที่ประเมินทิศทางถูกต้องด้วยการเปิดสถานะ Long ก็จะมีกำไร แต่ตรงกันข้ามหากคาดการณ์ผิด นอกจากนักลงทุนจะขาดทุนแล้ว ยังอาจนำมาซึ่งปรากฎการณ์บางอย่างด้วย

“สาเหตุที่ตลาดหุ้นขึ้นหรือลงผิดปกติได้มากในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า เป็นผลจากบล็อกเทรด ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งวิธีการทำบล็อกเทรดยกตัวอย่าง เช่น เราไป Long หุ้นบริษัทหนึ่งไว้ และหวังว่าราคาจะขึ้นไป 100 บาท บังเอิญว่าราคาไม่เป็นไปตามคาด แต่ปรับตัวลดลงมา แล้วพอมันลดลงมาถึงระดับหนึ่ง โบรกเกอร์ก็โทรให้เอาเงินมาเติม ไม่เติมก็ถูกบังคับขาย (ฟอสเซล) มันก็เลยกลายเป็นบล็อกเทรดเอฟเฟคด้วย”

หุ่นยนต์เทรดหุ้น

การลงทุนผ่าน “Program Trading” หรือ “Robot Trading” ซึ่งเป็นชุดคำสั่งการซื้อขายหุ้นในคอมพิวเตอร์นั้น เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการปรับตัวขึ้นสุด และลงแรงของดัชนีหุ้น เพราะ “Robot” หรือ “หุ่นยนต์” เหล่านี้ ได้ถูกตั้งโปรแกรมให้ซื้อขายอัตโนมัติ ตามระดับราคาและเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งในยุคก่อนๆ นักลงทุนสถาบันใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการลงทุน แต่ในยุคนี้ นักลงทุนรายใหญ่ก็ได้เข้ามาใช้บริการกันมากขึ้น

ทั้งนี้ เพราะโปรแกรม “หุ่นยนต์” เทรดหุ้น มีจุดเด่นตรงที่ “ไม่อ่อนไหวทางความรู้สึก” ดังนั้นเมื่อหุ้นในพอร์ตปรับตัวขึ้นไป ก็พร้อมที่จะ “ขาย” หรือ เมื่อราคาหุ้นในพอร์ตปรับตัวลดลงจนถึงระดับที่ตั้งโปรแกรมไว้ หุ่นยนต์ก็พร้อมที่จะขายทันทีโดยไม่ลังเลเช่นกัน ขณะเดียวกันในด้านการตัดสินใจ “ซื้อ” หุ่นยนต์ก็สามารถซื้อหุ้นได้ทันที หากหุ้นบริษัทนั้นมีคุณสมบัติตามที่นักลงทุนตั้งโปรแกรมไว้ ซึ่งวิธีการการตัดสินใจที่มีวินัยทั้งในด้านการซื้อและขายหุ้นในลักษณะนี้ “มนุษย์” อาจจะทำได้ไม่ดีเท่าหุ่นยนต์

สำหรับนักลงทุนในยุคนี้ ต้องรู้ว่า Robot จะทำอะไร พอหลุดจากระดับประมาณไหนแล้วต้องรู้ว่าโรบอตจะขาย แล้วคุณต้องอย่าไปสวนมัน เวลาการเกิดสัญญาณแบบนั้นต้องออก คุณจะสวนมันไม่ได้ ต้องรอสัก 1 อาทิตย์ แล้วค่อยเข้ามาเก็บ ซึ่งนับจากนี้ต่อไป ก็ต้องความเข้าใจ เพราะเราจะเห็นเหตุการณ์แบบนี้ในตลาดหุ้น ประเภทที่เวลาหุ้นขึ้นก็จะขึ้นผิดปกติ เวลาตกก็จะตกผิดปกติ ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการทำบล็อกเทรด และโรบอตเทรดดิ้ง ซึ่งตอนนี้มีการใช้มากขึ้น ดังนั้นสถานการณ์ทั้งโลกก็จะเป็นแบบนี้

เทคนิคโต้ความเสี่ยงลงทุนไตรมาส 2

นอกจากปัจจัยที่เล่ามาข้างต้น ในช่วงไตรมาส 2/2561 ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ ได้แก่ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีการประชุมกันในวันที่ 12–13 มิ.ย.นี้ เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (bond yield) สหรัฐปรับตัวขึ้นสูง โดยเฉพาะ bond yield 10 ปี ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง

ส่วนปัจจัยในประเทศ ต้องจับตาความคืบหน้าเรื่องการเลือกตั้งว่าจะชัดเจนแค่ไหน ซึ่งทางดอยช์แบงก์มองว่า ตามไทม์ไลน์แล้ว ควรจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในเดือน ก.พ. กลางปี 2562 แต่ถ้ามีการยืดเยื้อออกไป ก็อาจเลื่อนจากกำหนดเดิมได้ราว 6 เดือน หรือ ในกรณีที่มีการเลื่อนต่อไปอีก ก็คาดว่าจะยังเกิดการเลือกตั้งขึ้นได้ภายในปี 2562 อยู่ เช่น แทนที่จะปรากฎไตรมาส 1 ก็จะไปเป็นไตรมาส 4 แทน เป็นต้น อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าหากการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปนาน โอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาซื้อสุทธิก็จะยิ่งช้าลง ตรงกันข้ามหากมีการประกาศการเลือกตั้งที่แน่นอน ตลาดก็มีจะปรับตัวขึ้นได้อย่างน้อยประมาณ 100 จุด

ส่วนในด้านความเคลื่อนไหวของดัชนี ประเมินว่าหากตลาดหลุดจากระดับ 1,720 จุด พวกโรบอตเทรดดิ้งก็จะขายหุ้นออกมาด้วย แต่ก็จะไม่ทำให้ดัชนีร่วงต่ำกว่าระดับ 1,690 จุด อย่างไรก็ตามแม้จะมีการปรับตัวลดลงบ้าง แต่สิ้นปีนี้ประเมินเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยไว้ที่ 1,900–1,950 จุด ภายใต้สมมติฐานที่ อัตราการเติบโตกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ที่ 10–12% และคาดการณ์อัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (Forward P/E) 16.7 – 17 เท่า โดยการปรับตัวขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทย จะเกิดขึ้นรวดเร็วมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านการเลือกตั้งเป็นตัวแปรสำคัญ

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ได้สร้างเทคโนโลยีและโปรดักส์การลงทุนที่ซับซ้อนขึ้น แต่หากรู้ทันเกม ก็เป็นโอกาสที่จะช่วยโต้แรงป่วนเหล่านี้ได้

ที่มาบทความ : https://www.facebook.com/tiscomastery/

TSF2024