รีวิวหนัง Margin Call ความหดหู่ ความเป็นมนุษย์ จริยธรรม ไม่มีที่ว่างสำหรับผู้แพ้!

มีสปอยล์เนื้อหาของภาพยนตร์บางส่วน

….บทเรียนจากความโลภทุนนิยม

ภาพยนตร์ที่ตีแผ่เรื่องราวการเอาตัวรอดจากวิกฤตของธนาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง โดยถ่ายทอดช่วงเวลา 24 ชั่วโมงก่อนนับหนึ่งเข้าสู่วิกฤตซับไพร์มเมื่อปี 2008 ความหดหู่ ความเป็นมนุษย์ จริยธรรม ไม่มีที่ว่างสำหรับผู้แพ้ ภาพยนตร์ได้ถ่ายทอดอารมณ์เหล่านี้ออกมาครบถ้วน เราจะมาเริ่มเรื่องกันและย้อนทวนบทเรียนกัน

ทุกอย่างเริ่มต้นจาก นักวิเคราะห์ความเสี่ยง ชื่อว่า Peter Sullivan รับงานที่ยังไม่เสร็จมาจาก Eric Dale หัวหน้าทีมบริหารความเสี่ยงซึ่งถูกเชิญออกจากงาน จากนั้นก็สานต่อโมเดลทางคณิตศาสตร์จนเสร็จและพบว่าสินทรัพย์ที่บริษัทครอบครองอยู่ตั้งอยู่บนความเสี่ยงมาก จึงรีบรายงานไปยัง Will Emerson หัวหน้าทีมเทรด จากนั้น Will Emerson แจ้ง Sam Rogers นายใหญ่แห่งทีมห้องค้า ซึ่งงานแรกคือต้องรีบไปตามตัว Eric Dale กลับมา

คำถามคือสินทรัพย์อะไรที่ครอบครองอยู่ และความเสี่ยงมีมากขนาดไหน?

พอร์ตของธนาคารกู้เงินเพื่อซื้อสินเชื่อที่มีอสังหาฯเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันซึ่งปล่อยกู้ให้ผู้ที่มีเครดิตต่ำแล้วนำมาเรียงแพ็คใส่ห่อใหม่ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินชื่อว่า Mortgage-Backed Securities (MBS)

ความเสี่ยงอยู่ตรงที่การทำออกมาเป็น MBS นั้นใช้เวลา ดังนั้นพอร์ตจึงถือสินเชื่อคุณภาพต่ำเป็นเวลานานเกินไป ซึ่งโมเดลได้บอกว่าความผันผวนของพอร์ตได้มากกว่าระดับที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้ว หากมูลค่าของสินทรัพย์ลดลงเพียง 25% ผลขาดทุนจะสูงกว่ามูลค่าของบริษัท ส่งผลให้ล้มละลาย

จากนั้นคืนอันแสนโหดร้ายได้เริ่มขึ้น การเรียกประชุมบอร์ดได้เริ่มขึ้น หัวหน้าทีมต่างๆ รวมไปถึง CEO ที่ชื่อ John Tuld ที่ซึ่งตัดสินใจว่าต้องขายสินทรัพย์ในพอร์ตทั้งหมดออกไปทันทีที่ตลาดเปิดวันรุ่งขึ้น Sam Rogers เถียงเรื่องความน่าเชื่อถือที่จะไม่เหลืออีกต่อไปหากทำอย่างนี้ ณ จุดนี้ บทเรียนข้อแรกและสำคัญที่สุดของเรื่องนี้ได้ปรากฎขึ้น

1. วิถีแห่งความอยู่รอดในตลาดการเงิน

“จงเป็นคนแรก จงฉลาดกว่า หรือโกงไปเลย” เป็นบทเรียน 3 ข้อที่ตรงไปตรงมา ในการลงทุนหากคุณไม่ใช่คนแรกที่พบสิ่งดีๆที่ซ่อนอยู่ คุณต้องทำงานให้หนักกว่าเพื่อความสำเร็จ แต่ข้อสุดท้ายไม่ควรทำนะครับ มีอีกประโยคที่อยากนำมาฝาก “ถ้าคุณเป็นคนแรกที่หนีมันล่ะก็นั่นไม่เรียกว่าตื่นตูม”

มาถึงตรงนี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ารุ่งอรุณที่จะมาถึงจะเป็นเช้าแห่งหายนะของทุกคนที่ยังต้องใช้กระดาษที่เรียกว่า “เงิน” การขายแบบเทกระจาดจะเกิดขึ้น Eric Dale ก็ถูกตามตัวกลับมาเรียบร้อย

…และแล้วบทเรียนข้อที่สองได้เริ่มขึ้น

2. ล้มแล้วต้องเจ็บน้อยที่สุด

บทเรียนข้อนี้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการ Cut loss เมื่อ John Tuld พบแล้วว่าบริษัทตกอยู่ท่ามกลางหายนะ การรักษาเงินต้นให้มากที่สุด คือ Cut loss และยิ่งเป็นคนแรกที่เริ่มเกมส์แล้วด้วย ทำให้ได้เปรียบหลายอย่าง ฉะนั้นเมื่อพบว่าการลงทุนกำลังเข้าสู่หายนะ อย่าลังเลที่จะ Cut loss และยังมองหาโอกาสทำเงินจากช่วงวิกฤตอีกด้วย

รุ่งเช้ามาถึง การขายแบบเทกระจาดที่ทุกราคาตลาดเริ่มขึ้น และดำเนินไปทั้งวัน เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตซับไพร์มปี 2008 เย็นวันนั้นตลาดปิดลง สินทรัพย์ส่วนใหญ่ถูกเทขายออกไปแล้ว ถือเป็นผลงานระดับขึ้นหิ้งของ Sam Rogers เมื่อเสร็จงานนี้ เขาต้องการลาออกและไปคุยกับ CEO นำไปสู่สุนทรพจน์ที่มอบบทเรียนที่สาม

3. อย่าประมาท และพยายามปรับตัว

ฉากท้ายๆ ของเรื่องฉากนี้ Sam Rogers รู้สึกว่าสิ่งที่ทำไปส่งผลให้หลายคนหมดตัว แต่ John Tuld กล่าวว่าตลาดมันเป็นแบบนี้มาหลายสิบๆปีแล้ว ความแตกต่างระหว่างอดีตกับปัจจุบันคือมีผู้เล่นในตลาดมากขึ้น แต่สัดส่วนผู้ชนะกับผู้แพ้ยังคงเดิม หรือแม้กระทั่งวิกฤตที่เกิดขึ้นรอบแล้วรอบเล่ามันก็เป็นรูปแบบเดิมๆ ซึ่งไม่มีใครควบคุมได้ สิ่งที่ทำได้คือ เราต้องปรับตัวกับทุกสภาวะตลาด ฉะนั้นหากมองลึกๆ ในพอร์ตของธนาคารจะเห็นว่าทั้งพอร์ตมีการถือสินทรัพย์เดียวมากเกินไป สิ่งที่ควรทำจริงๆและทุกคนควรทำคือ จัดพอร์ตการลงทุน จัดสัดส่วนสินทรัพย์ มิใช่ลงทุนกับสิ่งๆเดียวมากเกินไป

สุดท้าย Sam Rogers ก็ไม่ได้ลาออก เพราะเขายังต้องการเงินเดือนอันมหาศาล พร้อมทั้งสวัสดิการชั้นยอดอยู่ดี เหตุการณ์นี้จำเป็นต้องมีแพะสักคน และก็ตกเป็นของ Sarah Robertson

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารความเสี่ยง ส่วน Eric Dale ถูกตามตัวกลับมานั่งเงียบๆแลกกับเงินชั่วโมงละ 176,471 เหรียญต่อชั่วโมง และสวัสดิการชั้นระดับพรีเมี่ยมที่จะยังอยู่ สิ่งที่น่าสนใจคือ ธนาคารจะไม่มีทางเป็นฝ่ายผิด จะมีสักคนต้องสวมบทแพะ การเก็บกวาดผู้รู้ เช่น Eric Dale จะเกิดขึ้นเพื่อจะได้มั่นใจว่าทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างราบรื่น

ฉากสุดท้ายของเรื่องคือบทสรุปที่ดีที่สุด ฉากที่ Sam Rogers ขุดหลุมฝังสุนัขที่ตาย เปรียบเสมือนเขาได้ขุดหลุมฝังความเป็น “มนุษย์” ไปแล้ว จากนั้นอดีตภรรยาของเขาบอกให้ดูแลตัวเองดีๆ คือเมื่อเข้ามาอยู่ในตลาด เท่ากับว่ายอมรับในความเสี่ยงและมันพร้อมจะเกิดทุกเมื่อ สิ่งที่ทำได้คือ ระวังและปรับตัว แม้ตลอดทั้งเรื่องจะดูหดหู่มากๆ แต่หากมองทางกลับกัน ในวิกฤตนั้นย่อมมีโอกาสเสมอเหมือนที่ภาพยนตร์เรื่อง The Big Short ได้นำเสนอแง่มุมของกลุ่มคนที่ปรับตัวทันและทำเงินไปกับวิกฤตได้ เราเองก็เช่นกัน ตั้งรับ จัดพอร์ต และปรับตัวเมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นนะครับ