“ซื้อถูก ขายแพง” นี่คือคำแนะนำที่เราได้ยินกันจนชินหู เรารู้ว่านี่คือกลยุทธ์ที่ควรทำ ฟังอย่างไรก็ดูมีเหตุผล

ทว่าเอาเข้าจริง หลายคนกลับไม่สามารถทำตามคำแนะนำนี้ได้ ทั้งที่ประโยคนี้เข้าใจง่าย แต่กลับทำยากเสียอย่างนั้น

คนส่วนใหญ่มักจะ “ซื้อแพง ขายถูก”

น่าแปลกดี หุ้นคงเป็นหนึ่งในไม่กี่อย่างที่คนชอบซื้อแพงๆ เวลาถูกๆ กลับไม่ซื้อ ตรงกันข้ามกับสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับ อาหาร ที่เรามักจะต้องการซื้อในราคาถูก

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นล่ะ? หุ้นต่างจากสิ่งอื่นๆ ที่เราต้องใช้เงินแลกซื้อมาตรงไหน? วันนี้เลยขอชวนทุกคนไปค้นหาคำตอบกันค่ะ

อรรถประโยชน์ของหุ้นนั้น ไม่เหมือนกับสินค้าอุปโภคบริโภค

อรรถประโยชน์ (Utility) เป็นแนวคิดหนึ่งที่ใช้ในวิชาเศรษฐศาสตร์บ่อยมาก แปลง่ายๆ ก็คือความพอใจที่เราจะได้รับจากสิ่งใดก็ตาม

ผู้เขียนไปเจอบทความหนึ่งน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งได้ระบุคำกล่าวของ Robert Cialdini ผู้เขียนหนังสือชื่อ Influence ไว้ว่า

“พื้นฐานของสิ่งที่เราต้องการครอบครองสุดๆ นั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด อรรถประโยชน์ที่เราจะได้รับจากสิ่งนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนเช่นกัน มีแต่ความต้องการจะครอบครองของเราเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลง”

แปลง่ายๆ คือ คุณลักษณะของอะไรก็ตามที่เราต้องการหรือไม่ต้องการนั้นไม่ได้เปลี่ยน มันยังสร้างความพอใจให้เราเท่าเดิม มีแต่ใจของเรานั่นละที่เปลี่ยน

เพราะฉะนั้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมพอเราเห็นป้าย SALE ของสินค้าใดๆ ก็ตามที่เราหมายตาไว้ เราถึงรีบกระโจนเข้าใส่ เนื่องจากเรารู้คุณสมบัติมันดี รู้ว่ามันสามารถทำให้เราพอใจได้ ยิ่งราคาถูกลงแบบนี้อีกยิ่งคุ้ม

ในทางตรงกันข้าม อรรถประโยชน์ของหุ้นนั้นไม่ได้เดาง่ายๆ และไม่ได้คงที่เหมือนสินค้าอุปโภคบริโภค มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เรื่องราวคงจะง่ายขึ้นหากสิ่งที่กำหนดอรรถประโยชน์นั้นมีเพียงแค่พื้นฐานของบริษัท ทุกคนคงจะซื้อขายหุ้นกันตามความเป็นจริง ทว่า! นี่คือตลาดหุ้น และตลาดหุ้นเคลื่อนไหวด้วย “อารมณ์” ของผู้เล่นต่างหาก ฉะนั้น อรรถประโยชน์ของหุ้นแต่ละตัวจะถูกผูกกับความคาดหวังด้วยอารมณ์ของผู้ซื้อขาย

ยิ่งโอกาสกำไรมากเท่าไร อรรถประโยชน์ของหุ้นตัวนั้นก็จะพุ่งขึ้นเท่านั้น ทำให้คนกระโจนเข้าใส่ในเวลาที่หุ้นไต่ระดับราคาขึ้นเรื่อยๆ ในทางตรงกันข้าม ยิ่งมีโอกาสขาดทุนมากเท่าไร อรรถประโยชน์ของหุ้นตัวนั้นก็จะดิ่งตาม คนก็ไม่กล้าซื้อหุ้นที่ราคาถูกลงๆ นั่นเอง

สังคมก็มีส่วน

หากเราตั้งสมมติฐานว่าคนส่วนใหญ่ประเมินอรรถประโยชน์ในรูปแบบที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น เราก็พอจะสรุปได้ว่าคนส่วนใหญ่มักตัดสินใจแบบเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน

เมื่อราคาหุ้นขึ้น เราเห็นคนส่วนใหญ่ซื้อ เราก็ซื้อตามเพราะเชื่อว่าถ้าไม่ดีจริงคนคงไม่ซื้อหรอก ต้องรีบซื้อด้วยเดี๋ยวจะตกรถ

เมื่อราคาหุ้นลง เราเห็นคนส่วนใหญ่ขาย ไม่กล้าซื้อ เราก็พาลกลัวไปด้วย

ในอีกสถานการณ์หนึ่ง หากเราเดินห้างฯ แล้วเจอกลุ่มคนมุ่งเข้าหากองสินค้า SALE เราก็มีแนวโน้มจะเข้าไปด้อมๆ มองๆ ด้วยเช่นกัน

ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยานี้เรียกว่า Bandwagon Effect ซึ่งว่าด้วยการที่เรามักจะทำตามคนหมู่มาก เพราะเราไม่อยากจะถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว กลัวว่าถ้าไม่ทำตาม ก็จะพลาดอะไรดีๆ ไป

สังคมไม่พอหรอก ต้องเพิ่ม “ความกลัวขาดแคลน” เข้าไปด้วย

ความขาดแคลนหรือ Scarcity เป็นอีกหนึ่งตัวเร่งให้คนเราเผลอทำอะไรไปตามอารมณ์ เพราะกลัวว่าสิ่งนั้นที่เราเล็งไว้จะไม่อยู่ให้เราได้ครอบครอง เรามักจะให้คุณค่าสูงๆ กับอะไรก็ตามที่มีจำนวนน้อย ลองสังเกตสิ ของหายากมักมีราคาแพงทั้งนั้นเลย

ความกลัวขาดแคลนนั้นจะถูกเร่งด้วย 2 สถานการณ์ คือ ความเสียหาย และ การแข่งขัน

มาเริ่มที่ความเสียหายกันก่อน

ในตลาดหุ้นคงหนีไม่พ้นการขาดทุนนั่นเอง เรามักจะไม่กล้าซื้อเพิ่มเมื่อราคาหุ้นตกลงมา เพราะเราเพิ่งจะเสียหายจากหุ้นที่ถืออยู่ เรามองว่ามันเป็นช่วงที่โอกาสเสียมีมากกว่าโอกาสได้ เมื่อราคาหุ้นขึ้น ทุกอย่างก็จะกลับตาลปัตร คนซื้อเพิ่มเพราะมองว่าโอกาสขาดทุนมีน้อยกว่าโอกาสได้กำไร

ในทางกลับกัน เมื่อสินค้าแปะป้าย SALE เราจะรีบพุ่งเข้าไปซื้อเพราะรู้ว่าถ้าหากหมดช่วงเวลา SALE เราจะเสียโอกาสในการได้ของราคาถูก อีกสิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างสินค้า SALE กับหุ้นราคาถูกคือ “ระยะเวลา” นั่นเอง เพราะเรารู้ว่าเทศกาล SALE จบวันไหน แต่เราไม่มีทางรู้เลยว่าหุ้นจะตกถึงเมื่อไร

มาดูปัจจัยที่ 2 กันต่อ นั่นก็คือการแข่งขัน

ยิ่งคนแข่งกันช่วงชิงมากเท่าไร สิ่งนั้นก็ยิ่งดูมีค่า การแข่งขันถือเป็นคุณสมบัติของตลาดหุ้นเลยก็ว่าได้ เวลาหุ้นขึ้น คนมักจะแข่งกันซื้อเพราะหุ้นดูมีค่า ดูมีอนาคต และในเวลาที่หุ้นขึ้นเอาๆ นั้น คนก็จะมองว่าหุ้นราคาถูกนั้นหายาก (ตามแนวคิด Scarcity) ต้องรีบซื้อเก็บไว้ก่อน แต่พอหุ้นตกก็แข่งกันขายเพราะเริ่มรู้สึกว่าหุ้นไม่น่าสนใจแล้ว การหาหุ้นแพงๆ ขายในช่วงหุ้นตกนั้นก็ทำได้ยาก เลยรีบชิงขายก่อน ไม่มีใครแย่งกันซื้อหุ้นราคาตกเพราะเห็นว่ามันไม่น่าดึงดูด

ทางด้านของ SALE ไม่ต้องอธิบายมากมายเลย เพราะเราน่าจะคุ้นตากับการแข่งขันแย่งชิงของ SALE แล้วละ

เราจึงสรุปได้ว่าข้อแตกต่างหลักที่ทำให้คนปฏิบัติต่อหุ้นถูกและของ SALE ไม่เหมือนกันคืออรรถประโยชน์ที่ต่างกัน สินค้าทั่วไปนั้นค่อนข้างคงที่ แต่หุ้นนั้นมีความแปรปรวนกว่า ยิ่งบวกรวมกับพฤติกรรมหมู่ของคนส่วนมากด้วยแล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมนักลงทุนถึงไม่ทันได้ควบคุมจิตใจ เพื่อต่อกรกับปัจจัยรายล้อมต่างๆ ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำคือวางแผนการลงทุนให้ชัดเจนและปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด การมีแผนที่ชัดเจนนั้นเปรียบเสมือนการมีที่ยึดซึ่งจะช่วยไม่ให้จิตใจเราเขว ที่สำคัญคืออย่าลืมไตร่ตรองให้ดีก่อนตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง อย่าให้อารมณ์ความรู้สึกของคนรอบข้างมาเป็นตัวกำหนดการกระทำของเรา สุดท้ายแล้วก็ขออวยพรให้ทุกท่านโชคดีกับการลงทุนค่ะ

ที่มาบทความ: โพสต์ทูเดย์

SaveSave

TSF2024