อนาคตของโลกการเงิน "The Future of Finance"

บทความวันนี้จะเป็นมุมมองต่อ “อนาคตของโลกการเงิน” ที่ผู้เขียนได้สรุปจากการร่วมงานเสวนาโต๊ะกลม The Future of Finance ที่จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับ Milken Institute โดยมีผู้บริหารสถาบันการเงิน บริษัทฟินเทค หน่วยงานกำกับดูแล ไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ

นอกจาก FinTech ยังมี TechFin

ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาเรามักได้ยินคำว่า FinTech กันบ่อย ๆ ซึ่งมักจะหมายถึงบริษัท FinTech Startup ที่ทำธุรกิจด้านการเงิน โดยล่าสุดจากการสำรวจโดยสมาคมฟินเทค ประเทศไทย บ้านเรามีจำนวนบริษัทฟินเทคเหล่านี้แล้วถึงกว่า 140 บริษัท เพิ่มขึ้นถึงเกือบเท่าตัวในรอบปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ในส่วนของสถาบันการเงินเอง ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทประกัน ต่างก็มีโครงการฟินเทคที่พัฒนากันในองค์กรเกิดขึ้นมากมาย

ส่วนคำว่า TechFin นั้นหมายถึงบริษัท Tech Company ที่เริ่มมาทำธุรกิจการเงินมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็น Platform ที่มีผู้ใช้งานเยอะ ๆ มาก่อนเช่น Alibaba Amazon Facebook WeChat LINE ต่างก็กระโดดเข้ามาแย่งเค้กก้อนใหญ่ในโลกทางการเงินมากขึ้น

Technology create new capabilities

เรามาถึงจุดที่ตัวเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องประสบการณ์ผู้ใช้ Smartphone ที่ทุกวันนี้พัฒนาไปมากจนบริการทางการเงินเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างมากจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การทำการค้าขายระหว่างประเทศ ที่สมัยก่อนการยืนยันรายการ การยืนยันการโอนย้ายเงิน การดูเครดิตของผู้ซื้อผู้ขาย ทั้งหมดทำโดยธนาคาร แต่มาวันนี้สามารถทำได้ทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องใช้ศักยภาพของธนาคารแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป หรือการซื้อขายของออนไลน์ เก็บเงินออนไลน์ที่เห็นชัดมากว่าในปัจจุบันหลาย ๆ Platform สามารถทำได้ด้วยตัวเอง

เทคโนโลยี Blockchain ก็เป็นอีกเทคโนโลยีที่มีส่วนสำคัญทำให้หน้าที่ของสถาบันการเงินดูจะจำเป็นน้อยลง จากที่สถาบันการเงินคือตัวกลางหลักที่ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างผู้มีเงินเหลือ และผู้ต้องการเงินทุน เทคโนโลยีนี้ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีนายหน้า สถาบันตัวกลางอีกต่อไป โดยธุรกรรมเชื่อระหว่างผู้มีเงินเหลือ และผู้ต้องการเงินทุนสามารถทำได้ในลักษณะ Peer to Peer เข้ามาทดแทน

ผู้เขียนได้มีโอกาสฟังบรรยายของคุณอรพงศ์ เทียนเงิน จาก Digital Venture สรุปเรื่องนี้ได้สั้น ๆ เลยว่า สถาบันการเงินกำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พร้อมจะตายจากการวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่ไปถึงจุดที่แบงค์ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ซึ่งโจทย์ที่สำคัญที่ต้องตีให้แตกในตอนนี้คือ “แบงค์ในโลกอนาคตควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร”

Digital ID จะเป็นตัวปลดล็อค

ทางด้าน MAS โดย Chief FinTech Officer ได้แชร์ถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้การใช้เทคโนโลยีกับธุรกรรมทางการเงินเติบโตได้อย่างมากคือการที่เรามี Trusted Digital ID หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือคล้ายบัตรประชาชนแบบออนไลน์ และสามารถเชื่อมต่อธุรกิจทางการเงินต่าง ๆ รอบ Digital ID ให้ได้ เช่นธุรกรรมของธนาคาร การซื้อขายหลักทรัพย์ หรือการซื้อขายกรมธรรม์ ซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้เขียนได้เคยศึกษาและพบว่า “Ease of account opening” หรือการที่เปิดบัญชีได้ง่ายขึ้น คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ฟินเทคเกิดความแพร่หลายขึ้นในโลกที่ผ่านมา

ข้อมูลในระยะยาวมีค่ามากกว่ากำไร

ล่าสุดแทบทุกแบงค์พร้อมเพรียงกันลดค่าธรรมเนียมการโอน และการจ่ายบิล ซึ่งคาดว่าจะเป็นเม็ดเงินรายได้ที่หายไปหลายพันล้านบาท ที่หนักกว่านั้นคือมีบางแบงค์เลือกที่จะมีโปรโมชั่นแถมเงินให้อีกต่างหากสำหรับผู้ที่ทำธุรกรรมจ่ายบิลผ่าน Mobile Banking สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรามาถึงโลกแห่ง Big Data ที่ข้อมูลที่ได้รับการจัดการที่ดีในระยะยาวมีค่ามากกว่าเงินไปแล้ว

ในส่วนของภาครัฐเองควรมีนโยบายการจัดการข้อมูล (Data Policy) ที่ดีเพื่อให้ประเทศสามาถใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างเต็มที่

คริปโต และโทเคนจะอยู่กับเราไปอีกนาน

เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกับ Cryptocurrencies, ICO และ Token เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในโลกการเงิน แม้ที่ผ่านมาจะมีประเด็นเรื่องความผันผวน ปัญหาความปลอดภัยข้อมูล รวมไปถึงมีผู้ทุจริตหาประโยชน์จากเรื่องนี้โดยมิชอบเกิดขึ้นไม่น้อย แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกของหลักทรัพย์ และการระดมทุน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้หลายคนเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะอยู่กับเราไปอีกนาน ในส่วนของทางการควรเน้นที่การเปิดให้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นจริงก่อน จากนั้นค่อยหามาตรการกำกับดูแลที่เหมาะสมตามมา (Experiment before regulate)

FundTalk รายงาน