เมื่อนักลงทุนทั่วไปเริ่มคิดที่จะนำเงินมาลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ นอกจากเงินฝากธนาคารเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ตัวเลือกแรกๆ ในความคิดก็อาจจะนึกถึงตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือ กองทุนตราสารหนี้ ซึ่งก็มีอยู่หลากหลายรูปแบบ เช่น กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น กองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ เป็นต้น
โดยนักลงทุนที่มีการลงทุนในตราสารหนี้หรือกองทุนตราสารหนี้ส่วนใหญ่มักจะมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าวดังนี้
1. กองทุนตราสารหนี้ คล้ายการฝากเงิน ไม่ขาดทุน
นักลงทุนหลายท่านมักมีความเข้าใจผิดๆ ว่า กองทุนตราสารหนี้ลงทุนแล้วคล้ายเงินฝาก ไม่ขาดทุน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กองทุนตราสารหนี้มีความแตกต่างจากการฝากเงิน มีโอกาสขาดทุนได้จากหลายสาเหตุ เช่น การผันผวนของมูลค่าหน่วยลงทุนจากการ Mark to Market หรือการตีมูลค่าตราสารหนี้ในกองทุนตามมูลค่าตลาด หรือ ตราสารหนี้ในกองทุนอาจมีการผิดนัดชำระ (Default) ซึ่งอาจทำให้ตราสารหนี้ หรือ กองทุนตราสารหนี้ ขาดทุนได้
2. ลงทุนตราสารหนี้เดี่ยวๆ ไม่ขาดทุน เหมือน กองทุนตราสารหนี้
นักลงทุนหลายท่าน โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ที่ได้มีการลงทุนในตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้รายตัว มักจะติดภาพว่าหุ้นกู้เหล่านั้นมีการจ่ายดอกเบี้ยให้ขาเดียว การถือครองหุ้นกู้ จะไม่เผชิญภาวะการขาดทุนจากราคาเหมือนกองทุนตราสารหนี้ ทำให้คิดว่าการลงทุนในหุ้นกู้รายตัวจะดีกว่าการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้เสมอ ซึ่งไม่จริง เนื่องจากว่าการที่นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้หรือตราสารหนี้เดี่ยวๆ ไม่เห็นการขาดทุนจากการ Mark to Market ราคาหุ้นกู้รายตัว ไม่ได้แปลว่า เขาจะไม่ขาดทุน แค่ว่าเขาไม่ได้ขาดทุนจากการนำราคาไป Mark to Market เท่านั้นเอง ซึ่งถ้าจะดูกันอย่างเป็นธรรมแล้ว เราควรนำราคาหุ้นกู้รายตัวเหล่านั้นไป Mark to Market ในตลาดรองตราสารหนี้ ที่มีการซื้อขายหุ้นกู้รายตัวกัน ถ้าทำด้วยวิธีดังกล่าว นักลงทุนก็จะเห็นราคาหุ้นกู้รายตัวที่ตัวเองถือลงทุนอยู่มีการผันผวนของราคา ขึ้นหรือลง ไม่แพ้ราคาของมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนตราสารหนี้เช่นกัน ซึ่งก็ทำให้เห็นว่าตราสารหนี้เดี่ยวๆก็ขาดทุนได้ไม่ต่างจากกองทุนตราสารหนี้ หรืออาจเห็นการขาดทุนที่มากกว่าก็ได้ในบางเวลาที่มีการ Mark to Market
3. ลงทุนตราสารหนี้เดี่ยวๆ ดีกว่ากองทุนตราสารหนี้
นักลงทุนหลายรายมักเข้าใจผิดว่าการได้รับการเสนอขายหุ้นกู้หรือตราสารหนี้เดี่ยวๆ หลายตัว มักจะดูมีความพิเศษ ทำให้คิดว่าจะได้รับตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดีเสมอ ซึ่งไม่จริงเสมอไปอีกเช่นกัน หากเราลองคิดในความเป็นจริงแล้ว กองทุนหรือนักลงทุน สถาบันเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีความสามารถในการต่อรองสูง เนื่องจากมีมูลค่าเงินลงทุนมาก ทำให้นักลงทุนสถาบันมักจะมีสิทธิ์หรือสามารถเลือกตราสารที่มีคุณภาพได้ก่อนนักลงทุนรายย่อย ทำให้การลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ มีการคัดกรองคุณภาพตราสารโดยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพมาให้แล้วอีกชั้นหนึ่ง
การลงทุนตราสารหนี้เดี่ยวๆ เอง นักลงทุนจึงควรมีความสามารถที่มากพอในการวิเคราะห์คัดเลือกตราสารเองได้ มากไปกว่านั้น การลงทุนในหุ้นกู้เดี่ยวๆ ผู้ลงทุนจะมีการกระจุกตัวของความเสี่ยงในหุ้นกู้รายตัว สูงกว่า การลงทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้ หากไม่สามารถเลือกลงทุนในตราสารหนี้ได้จำนวนที่มากพอ เพราะฉะนั้นหากหุ้นกู้ที่นักลงทุนถือลงทุนอยู่มีการผิดนัดชำระ (Default) เกิดขึ้น นักลงทุนอาจจะต้องเผชิญกับความยากลำบากในขั้นตอนถัดมามากกว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวม เนื่องจากอาจจะต้องไปติดตาม ฟ้องร้อง เพื่อขอคืนเงินต้นด้วยตนเองในหลายกรณี ในขณะที่การลงทุนผ่านกองทุนรวมจะมีตัวแทนจากกองทุนรวมดำเนินการติดตามฟ้องร้อง เพื่อขอเงินต้นคืนให้ อีกทั้งจำนวนเงินที่สูญหายจากการผิดนัดชำระหนี้ผ่านหุ้นกู้รายตัว อาจได้รับผลกระทบที่มากกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ เนื่องจากกองทุนรวมมีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนผ่านจำนวนตราสารหนี้ที่มากกว่า
4. ผลตอบแทนสูงๆ ขึ้นชื่อว่าตราสารหนี้ต้องไม่เสี่ยง
ตราสารหนี้หรือหุ้นกู้รายตัว หรือ กองทุนตราสารหนี้ บางประเภทมีการเสนอผลตอบแทนในระดับที่น่าสนใจมาก เช่น ผลตอบแทนในระดับ 6-7% ขึ้นไป แต่มีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ที่ต่ำกว่า Investment Grade ในขณะที่อายุตราสารอาจไม่ยาวมากนัก ซึ่งถือว่าเป็นอัตราผลตอบแทนที่สูงเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลหรือเงินฝาก ทำให้นักลงทุนหลายรายหลงไปกับผลตอบแทนโดยมองข้ามความเสี่ยงทางด้านการผิดนัดชำระ หรือ Credit Risk นั่นเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความเสี่ยงทางด้าน Credit Risk มีความน่ากลัวอยู่มาก เนื่องจากหากบริษัทผู้ออกตราสารผิดนัดชำระ ก็มีโอกาสที่เงินต้นของผู้ลงทุนจะสูญหายหมดได้เลยเช่นกัน
และทั้งหมดนี้ก็เป็นความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้ที่อยากให้นักลงทุนได้ตระหนักคิดหรือพิจารณาให้ดีก่อนจะเลือกลงทุนในหุ้นกู้รายตัวหรือกองทุนรวมตราสารหนี้นั่นเอง
ที่มา: https://www.posttoday.com/finance/invest/544992