กระจายความเสี่ยง ไปลงทุนในต่างแดน เป็นเทรนฮิตของนักลงทุนยุคใหม่ และยิ่งไปแดนอาทิตอุทัย ยิ่งเป็นเรื่องใหม่ที่หลายๆคนอาจยังกล้าๆกลัวๆ ทั้งๆที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นนั้นให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา สาเหตุก็มาจากนโยบาย Abenomics ของชินโซะ อาเบะ นายกฯคนปัจจุบันของแดนปลาดิบ ที่ทั้งอัดฉีด QQE ปรับโครงสร้างภาษี และปฏิรูปเศรษฐกิจไปพร้อมๆกัน
แต่นั้นก็ยังทำให้หลายคนสงสัยว่า ควรจะไปลงทุนในญี่ปุ่นดีหรือเปล่า เห็นหลายๆ บลจ. ช่วงนี้เชียร์กันเหลือเกิน
เอาเป็นว่า ในฐานะคนกลาง และคอยสื่อสารให้ทุกท่านเข้าใจ ผมจึงลิสต์ความเชื่อที่คุณต้องเชื่อ ก่อนจะแหย่เท้าไปลงทุนญี่ปุ่นกับเขาบ้าง ลองดูกันครับ ว่ามีอะไรบ้าง
1. เชื่อว่าปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคล จะต้องเกิดขึ้น
ผมเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก เพราะการไปลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ไม่ว่าจะ Nikkei225 หรือ Topix นั้น ก็คือการลงทุนในบริษัท และกำไรบริษัทจะดีขึ้นทันที หากภาษีที่จ่ายมันลดลง
ตอนนี้ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่เก็บภาษีนิติบุคคลสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ เป้าหมายของรัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นใน 2 ปีข้างหน้าคือ ค่อยๆลดภาษีลงจาก 34.62% เหลือ 31.33% โดยเชื่อว่า การลดภาษีจะกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น ทำให้เกิดการลงทุนมากขึ้น แล้วเดี๋ยวรายได้ภาษีจะกลับมาเอง
2. เชื่อว่า ค่าเงินเยน (JPY) ที่อ่อนค่า น่าจะเป็นผลดีกับญี่ปุ่น
ดีในแง่ไหนบ้าง? ก็ 2 แง่ครับ
2.1 สร้าง Global Competitiveness หรือ ความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก จากการที่ราคาสินค้าส่งออกราคาถูกลงเมื่อเทียบกับสกุลหลักอื่นๆ
2.2 จำนวนนักท่องเที่ยวจะเข้าไปในญี่ปุ่นมากขึ้น ว่ากันว่า ประเทศญี่ปุ่นเนี่ย รายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวติดอันดับต้นๆของโลกเลยทีเดียว คราวนี้ ถ้าเงินเยนอ่อน ก็น่าจะทำให้ใครๆอยากไปญี่ปุ่นมากขึ้นแน่นอน
3. เชื่อว่า แม่บ้านญี่ปุ่นจะเอาเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น
คุณรู้หรือเปล่าว่า แม่บ้านญี่ปุ่นราวๆ 30% ของประเทศนี้ เก็บเงินไว้ที่บ้าน ไม่คิดแม้กระทั่งจะฝากเงินไว้กับธนาคาร สาเหตุเป็นเพราะค่านิยมเรื่องไม่ยอมรับความเสี่ยง และผลตอบแทนที่ต่ำเตี้ยจากการฝากเงินในธนาคาร รัฐบาลญี่ปุ่นจึงออกโปรแกรมที่เรียกว่า Nippon Individual Savings Account หรือ NISA ซึ่งเป็นบัญชีเพื่อการลงทุนที่หากใครเปิดแล้วลงทุนตามเงื่อนไขละก็ จะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งเงินปันผล Capital Gain และดอกเบี้ยที่ได้รับ โดยรัฐบาลตั้งเป้าไปที่ Senior A/C หรือบัญชีผู้สูงอายุซึ่งมีเงินถุงเงินถังเยอะๆก่อน แล้วจะตามมาที่ Junior A/C ในลำดับถัดไป ความสำเร็จของโครงการนี้น่าสนใจทีเดียว เพราะมีผู้เปิดบัญชีรวม 7 ล้านคนในปี 2014 ที่ผ่านมา มีวงเงินรวม 1.563 trillion yen และมีแนวโน้มขยายขึ้นเรื่อยๆในปีต่อๆไป
4. เชื่อว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่น ยังไม่ Overvalue
ปัจจุบัน ดัชนี Nikkei225 มี Historical P/E Ratio อยู่ที่ 15.5 เท่า เทียบกับ SET Index ตอนนี้ที่เกือบๆ 19 เท่า ก็ถือว่าถูกอยู่เล็กน้อย ที่น่าสนใจถือ Bloomberg Polls สำรวจความเห็นนักวิเคราะห์แล้วพบว่า มีมุมมองเชิงบวกต่อผลประกอบการในอนาคตของบริษัทใน Nikkei พอสมควร บวกกับ การอ่อนค่าของค่าเงินเยน และการที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำช่วงนี้ เลยทำให้มีความค่าหวังกันว่า กำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2015-2016 จะโตได้อีก 5.5% และ 13% ตามลำดับ
5. เชื่อว่า QE ยังไงก็มีมาอีก
เรื่องนี้ เราได้เรียนรู้จากต้นตำหรับ QE อย่างสหรัฐฯมาเป็นอย่างดีว่า ลองใครได้รู้จัก QE เป็นเสพติดกันทุกที ยากที่จะถอนตัว ดังนั้น ถึงคุณจะมองในแง่ร้ายต่อ 4 ความเชื่อข้างบนก็เถอะ แต่คุณเชื่อผมเถอะ หากเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่ดีขึ้นละก็ รัฐบาลเขาก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการอัดฉีด QE เพิ่มขึ้น เมื่อสภาพคล่องสูงขึ้น มันย่อมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็เป็นเป้าหมายหนึ่งแน่นอน เพราะขนาด GPIF (Government Pension Investment Fund) กองทุน Pension อันดับหนึ่งของโลก ยังจะขยับตัวมาลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นตามใบสั่งของรัฐบาลเลย
เอาละครับ…
ถ้าคุณเชื่อตามนี้ การแบ่งพอร์ต กระจายความเสี่ยงไปลงทุนในญี่ปุ่น ก็ดูไม่เลวเหมือนกันนะ
โชคดีในการลงทุนครับ