ในบรรดากองทุนที่เสนอขายในประเทศไทย ต้องถือว่า “ทริกเกอร์ฟันด์” ซึ่งเป็นผลผลิตจากความคิดคนไทยล้วนๆ และมีขายแห่งเดียวในโลกนั้น เป็นโปรดักส์การลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เห็นได้จากการตอบรับของนักลงทุนที่มีอย่างล้นหลาม…แต่แน่ใจแล้วหรือว่ารู้จักทริกเกอร์ฟันด์เป็นอย่างดี จนน่าจะสร้างรีเทิร์นได้อย่างไม่ผิดหวัง?
“ทริกเกอร์ฟันด์” ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน “ทริกเกอร์ฟันด์” ซึ่งเป็นกองทุนที่มีนโยบายในการสร้างผลตอบแทนให้ถึงตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้น ได้เสนอขายอย่างหลากหลายรูปแบบ โดยมีทั้ง ทริกเกอร์ฟันด์ ที่อ้างอิงกับตราสาร ในและต่างประเทศ เช่น ทริกเกอร์ฟันด์หุ้นไทย ทริกเกอร์ฟันด์หุ้นจีน และทริกเกอร์ฟันด์หุ้นญี่ปุ่น และยังมีทริกเกอร์ฟันด์ที่อ้างอิงกับดัชนีรายกลุ่ม เช่น กลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ
โดยการปรับตัวขึ้นลงของราคาหน่วยลงทุนทริกเกอร์ฟันด์ ก็ขึ้นอยู่กับตราสารที่ใช้อ้างอิงด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ตราสารอ้างอิงก็มักจะไม่ซับซ้อนมากนัก เช่น หากเป็นทริกเกอร์ฟันด์หุ้นญี่ปุ่น ก็จะอ้างอิงกับหุ้นญี่ปุ่นอย่างดัชนี NIKKEI225 โดยมีกองทุนแม่เป็นผู้บริหารการลงทุน หากเป็นทริกเกอร์ฟันด์หุ้นไทยก็อาจจะอ้างอิงกับดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) โดยมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้บริหารกองทุนเพื่อให้ถึงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ส่วนกรณีที่เป็นทริกเกอร์ฟันด์น้ำมัน
ในส่วนนี้ก็อาจจะมีความซับซ้อนมากกว่ากองทุนอื่นๆ เนื่องจากทริกเกอร์ฟันด์น้ำมันนั้น จะเป็นการลงทุนในสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า (Oil Futures) ที่อ้างอิงกับราคาน้ำมันดิบอีกทอดหนึ่ง ซึ่งในบางช่วงเวลามูลค่าของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอาจเคลื่อนที่ไม่ทันกับราคาน้ำมันดิบโลก ที่มีการเปลี่ยนแปลงก็ได้
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่า รูปแบบกองทุนประเภทนี้ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องง่าย ที่นักลงทุนจะคว้าผลตอบแทนได้ตามที่กองทุนตั้งเป้าไว้ หากยังขาดความเข้าใจใน 3 ประเด็นสำคัญ
1. ต้องเข้าใจก่อนว่ากองทุนประเภทนี้มักมีการกำหนดเป้าหมาย 2 เป้าหมาย คือ
- ผลตอบแทนหรือ, มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ที่ตั้งเป้าไว้
- ระยะเวลา โดยหากกองทุนถึงเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง ก็จะทำการขายคืนหน่วยลงทุนให้กับผู้ลงทุน แต่หากยังไม่ถึงเป้าหมาย เช่น NAV ของกองทุนยังไม่ถึงเป้าหมาย ผู้ลงทุนจะต้องถือหน่วยลงทุนจนกว่าจะครบระยะเวลาที่กำหนด เช่น 5 เดือน หรือ 8 เดือน จึงจะขายหน่วยลงทุนออกมาได้
เพียงแต่ข้อดีของกองทุนประเภทนี้ ก็คือ จะมีผู้จัดการกองทุนช่วยจับจังหวะการลงทุนและขายหน่วยลงทุนออกให้หากถึงเป้าหมายตามที่กำหนด จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่ไม่มีเวลาติดตามดัชนี แต่ในอีกด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า การลงทุนในทริกเกอร์ฟันด์ก็มีข้อเสีย คือ หาก NAV ยังไม่ถึงเป้าหมาย ผู้ลงทุนจะยังไม่สามารถขายหน่วยลงทุนออกมาได้จนกว่าจะครบระยะเวลาที่กำหนด
2. เลือกทริกเกอร์ฟันด์ที่มีความเข้าใจในตราสารอ้างอิง
ผู้ลงทุนควรจะเข้าใจในตราสารที่กองทุนนั้นๆ ลงทุนก่อน เช่นที่กล่าวไปข้างต้นว่า หากเป็นกองทุนที่ใช้ราคาหุ้นอ้างอิงจะไม่ซับซ้อนนัก แต่หากเป็นกองทุนน้ำมันจะใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าจึงทำให้มีความซับซ้อนและผันผวนมาก
ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาก นักลงทุนบางรายก็อาจมีความต้องการลงทุนในกองทุนที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน เพราะหวังว่าจะสร้างกำไรได้ จากราคาที่อาจจะปรับตัวขึ้นไปในอนาคต แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ทริกเกอร์ฟันด์น้ำมัน” ไม่สามารถลงทุนน้ำมันดิบในตลาดโลก หรือ “Spot Oil” ได้โดยตรง ในระดับราคาที่ประกาศขณะนั้น เพราะผู้จัดการกองทุนไม่สามารถสร้างคลังน้ำมันขนาดใหญ่มากักเก็บน้ำมันที่ลงทุนไว้ได้
ดังนั้น “ทริกเกอร์ฟันด์น้ำมัน” จึงใช้วิธีลงทุนใน Oil Futures ซึ่งปัจจุบันกองทุนน้ำมันขนาดใหญ่ที่ลงทุน “ออยล์ฟิวเจอร์ส” ในโลก มี 2 กองทุนที่รู้จักกันดี ได้แก่
- DBO-PowerShares DB Oil Fund (DBO) โดยหลักการลงทุน คือ เน้นซื้อสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าในรุ่นที่ “ถูกที่สุด” ณ วันที่ตัดสินใจซื้อ ซึ่งอาจจะเป็นรุ่นที่มีอายุสั้น กลาง หรือยาวก็ได้ ภายใต้กลยุทธ์ “ซื้อถูกขายแพง” แต่ในบางช่วงเวลา กองทุนดังกล่าวก็ได้ตัดสินใจซื้อสัญญาระยะยาวล่วงหน้าไปแล้ว ดังนั้นแม้ราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นไป กองทุนนี้ก็อาจจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่สูงตามที่นักลงทุนคาดหวังก็เป็นได้
- กองทุน United States Oil Fund (USO) ซึ่งเน้น “ซื้อฟิวเจอร์สอายุ 1 เดือน” เป็นหลัก ทำให้การลงทุน Oil Futures มีราคาขยับขึ้นใกล้เคียงกับราคาน้ำมันสปอตมากที่สุด
อย่างไรก็ตามไม่ใช่แค่เพียงทริกเกอร์ฟันด์เท่านั้น แต่การลงทุนใน “กองทุนรวม” ที่มีสินทรัพย์อ้างอิงเป็นน้ำมัน ส่วนใหญ่ ก็ลงทุนใน Oil Futures เช่นกัน ดังนั้นนักลงทุนจึงควรพิจารณารายละเอียดในประเด็นนี้ให้ถี่ถ้วนก่อนลงทุน ซึ่งจะช่วยให้ได้รับผลตอบแทนตรงตามที่คาดหวังได้อย่างดีขึ้น
3. จังหวะเวลาที่ลงทุน (Timing)
เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการตัดสินใจลงทุน โดยแนะนำให้เลือกกองทุนที่ตราสารอ้างอิงมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ยังมีปัจจัยบวกสนับสนุน และมีปัจจับลบจำกัด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เป็นเงื่อนไขของกองทุน โดยวิธีการดูว่าดัชนีนั้นเป็นขาขึ้นหรือไม่หรือมีปัจจัยใดที่จะส่งผลต่อกองทุน อาจดูได้จากตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ และเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง
หากเลือกทริกเกอร์ฟันด์อย่างเข้าใจในทุกมิติ การคว้าผลตอบแทนที่ดีตามที่ตั้งใจ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม
โดย TISCO Wealth Advisory
ที่มาบทความ : https://www.facebook.com/tiscomastery/