เมื่อพูดถึงการลงทุน คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเงินหรือทรัพย์สินที่มูลค่า แต่สำหรับ “ปั๊ม-อนุชิต คำน้อย” หรือ “คิ้วต่ำ” เจ้าของเพจชื่อดัง การลงทุนเริ่มต้นที่ใจ การให้ใจง่ายที่สุด เสี่ยงน้อยที่สุด และให้ผลตอบแทนที่ยั่งยืนที่สุด
FINNOMENA ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คิ้วต่ำในหลากหลายเรื่องราวที่หลายคนยังไม่รู้จัก ทั้งเรื่องราวกว่าจะมาเป็นคิ้วต่ำ การหาแรงบันดาลใจ ถ้าเพจหายไปจะทำอย่างไร และการลงทุนสไตล์คิ้วต่ำ ที่บอกเลยว่าได้ทั้งกำไรและความสุข
เราทำได้อย่างเดียวคือ “ครีเอทีฟ”
ที่จริงผมจบสถาปัตย์ฯ สาขานิเทศศิลป์ คนที่จบควรจะทำงานกราฟฟิก ออกแบบเลย์เอ้าท์ แต่เราเป็นคนหนึ่งที่พอเข้าไปเรียนปุ๊บ เรารู้เลยว่าเราทำไม่เก่ง เราไม่มีเซ้นส์เรื่องสี เราทำได้อย่างเดียวคือ ครีเอทีฟ เวลารวมงานกลุ่มกันเราจะเป็นคนคิดคอนเซ็ปต์อย่างเดียวเลย ให้เพื่อนทำไป เมื่อเราคิดคอนเซ็ปต์แล้วเราถ่ายทอดออกมาเป็นกราฟฟิกเลย์เอ้าท์สวยๆ ไม่ได้ ฉะนั้นไม่ว่าจะทำอะไรก็จะเซฟตัวเองไว้
เคยมีตอนเรียนที่ให้ออกแบบแมกกาซีน แล้วเรารู้ว่าเราไม่เก่งเลย์เอ้าท์กับเรื่องสี เราก็เลยทำคอนเท้นต์เป็น “แว้นแมกกาซีน” แมกกาซีนสำหรับเด็กแว้น ฉะนั้นในเล่มนี้ เลย์เอ้าท์มันจะพังมาก แต่มันคือเด็กแว้น สีมันจะสนุกมากๆ เพราะมันคือเด็กแว้น อาจารย์จะไม่สามารถด่าเราได้เลย เพราะธีมมันชัดมาก พิมพ์ผิด…เด็กมันก็ต้องพิมพ์ผิดกันบ้าง (หัวเราะ) เราก็เลยเป็นคนที่เรียนจบสายนี้มาแต่เราจะชอบความครีเอทีฟว่ามันสามารถเอาไปใส่อะไรก็ได้
ปริญญาที่สำคัญคือการต่อยอด
พอจบมา ตอนแรกไปทำกราฟฟิกอยู่ประมาณ 3-4 เดือน แต่พอเราได้ทำคอนเท้นต์ลงเพจ เราก็หลุดมาทำอันนี้ยาวเลย เราใช้ความเป็นครีเอทีฟในการออกแบบคำคม ภาพประกอบ เวิร์กช็อปต่างๆ เอามาต่อยอดอีกที เพราะจริงๆ จบสายไหนก็ไม่จำเป็นต้องต่อสายนั้นเป๊ะๆ
ปริญญาที่สำคัญคือการต่อยอด เราก็จะบอกเด็กเวลาไปสอน เด็กกับเราจะคิดไม่เหมือนกัน จะบอกเขาว่าตอนจบเราไม่ได้เกรดนะ เราได้เงิน สิ่งสำคัญคือเงินที่ต้องนำมาเลี้ยงดูชีวิตเราแล้ว ไม่ใช่เกรดที่เราเอาไปอวดใครว่าได้เอบีซี ฉะนั้นชีวิตจะยากขึ้นกว่านี้มากๆ
สิ่งที่สำคัญคือเราต้องรู้ว่า จบไปเราเป็นแค่มดนะ เพราะมันก็จะมีมดอีกหลายตัวบนโลกที่เยอะมาก คุณเก่งในห้องเรียนตอนนี้คุณอาจจะกลายเป็นใครก็ไม่รู้ข้างนอก
หาแรงบันดาลใจจากชีวิตประจำวัน
จริงๆ แล้วเราไม่เสพแรงบันดาลใจจากเพจนะ เราหาแรงบันดาลใจจากชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเป็นเพจเราก็จะเน้น ผ่อนคลาย เหมือนที่ทุกคนตามเลย ตามอะไรที่มันสนุก
เราไม่ได้ตามเพจใดเป็นพิเศษ มันแล้วแต่ช่วง เช่น ช่วงนี้อยากตามข่าวดราม่า อยากอ่านบทความ ดูเหมือนคนทั่วไปเลยครับ เพจไหนดูได้ก็ดู เพจธรรมะก็มี อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ บางทีก็ตลก บางทีก็ธรรมะ
ไม่ว่าเราจะเสพอะไร ทุกอย่างมันคือแรงบันดาลใจ ไม่จำเป็นต้องเสพแค่คำคม บางทีเราไปเสพข่าวดราม่าดาราเราก็ได้ข้อคิด ไปเสพการเมืองเราก็ได้ข้อคิด แต่เราต้องคิดว่าเราจะเล่าอย่างไรไม่ให้เราโดน ไม่งั้นเดี๋ยวเพจปลิว กลายเป็นคิ้วปลิว (หัวเราะ)
บางคนจบครีเอทีฟมาก็ขายขนมหวานได้
เมื่อก่อนเราทำแค่ออนไลน์ ตอนนี้เราก็ทำตัวออฟไลน์ด้วยการเป็นนักเขียน มีหนังสือของตัวเอง ต่อมาก็เป็นนักออกแบบ จะมีแบรนด์ที่อยากให้เราออกแบบลายนู่นลายนี่ให้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการโพสออนไลน์นะครับ เป็นการเอาตัวเรามาทำข้างนอกเลย ออกแบบให้เขาโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นลายเสื้อ นู่นนี่นั่น ว่ากันไป
ล่าสุดเมื่อปีสองปีนี้ก็ได้ไปสอนคณะสถาปัตย์ฯ เป็นอาจารย์พิเศษบ้าง ผู้ช่วยบ้าง แล้วก็ได้รับเชิญจาก Space ต่างๆ ที่เขาจัดเวิร์กช็อปเรื่องการคิด การเขียน การครีเอทีฟแล้วก็รวมถึงมหา’ลัยต่างๆ ที่เขาจะเชิญไปพูดในงานหนังสือ ก็เป็นอีกหลายๆ อาชีพที่เราทำต่อเนื่องจากการทำแฟนเพจ ระบุไม่ได้เหมือนกันว่าเราทำอาชีพอะไร ตอบได้แค่ว่าเป็นอาชีพหาเงิน อะไรได้เงินเราไปก่อน (หัวเราะ) อะไรที่มันเกี่ยวกับทักษะของเราที่เราทำได้ เราก็จะไปทำ มันทำให้ทักษะเราไม่ตายครับ ทุกครั้งที่เราได้รับอาชีพใหม่ๆ มันทำให้เรารู้ว่างานครีเอทีฟมันอยู่ได้กับทุกสายอาชีพเลย บางคนจบครีเอทีฟมาก็ขายขนมหวานได้ ถ้าเขาสามารถคิดคอนเท้นต์ในการขายได้ งานเรามันสามารถซึมได้ทุกที่เลย
โรคจิตตรงที่เราชอบกลับไปใช้ชีวิตเดิมๆ
ชอบเที่ยวมาก เอะอะจองตั๋วโปรฯ แล้ว ศูนย์บาทมาแล้ว (หัวเราะ) ไปบ่อยมาก ถ้าเป็นวันเดียวว่างๆ ก็จะดูก่อนว่าอยากทำอะไร เช่น วันนี้อยากไปร้านกาแฟ ก็จะไปร้านกาแฟโดยไม่พกงานไป ไปถ่ายรูปเล่นเพราะเป็นคนชอบถ่ายรูป หรือไม่ก็ไปเดินห้างฯ ซื้อของ เดินเช็กราคาของ
เราเป็นคนโรคจิตตรงที่เราชอบกลับไปใช้ชีวิตเดิมๆ สมมติถ้าพอมีเวลาว่างบ้างก็จะกลับไปเที่ยวห้างฯ ที่เคยไปตอนอยู่มหา’ลัย กลับไปดูหอที่ตัวเองเคยอยู่ แล้วก็จะชอบมโนว่าเห็นตัวเองตอนที่ใช้ชีวิตแบบนี้อยู่ ไปเดินห้างฯ ที่ใกล้มหา’ลัยแล้วเห็นเด็กที่แบบ ต้องลงมาซื้อชาไข่มุกแน่ๆ (หัวเราะ) เป็นคนชอบทำแบบนี้ สนุก ไปเดินในที่ที่เราไม่เคยซื้อของได้เลยแล้วนึกถึงตอนอยู่มหา’ลัยที่เวลาเดินผ่านร้านนี้แล้วจะรู้สึกว่า ชาตินี้จะมีวันซื้อได้หรือเปล่า เหมือนสมัยก่อนที่เราไม่สามารถซื้อมือถือได้น่ะ
ถ้ามีเวลาว่างกว้างๆ ปุ๊บ ก็จะจองตั๋วไปเที่ยว เที่ยวเมืองนอกบ้าง เที่ยวใกล้ๆ อย่างพม่าบ้าง เชียงใหม่บ้าง พอเราทำงานเป็นอาจารย์ มีแฟนเพจเยอะๆ เนี่ย เราถูกมองเห็นมาก บางทีมันจะทำให้เราเหลิง เพราะถูกโฟกัส เราต้องไปเป็นคนที่ไม่ถูกโฟกัสเลย หรือเป็นคนที่ไม่ได้สำคัญกับเขา ต้องไปอยู่ในที่ที่เขาไม่สนใจเรา ต้องไปเป็นคนไม่สำคัญของเขา เราจะรู้สึกผ่อนคลาย แล้วมันจะมีไฟในการกลับมาพิสูจน์ตัวเอง อยากทำงานให้ดีขึ้น ให้เขารู้จัก
ไม่เคยคิดว่าจะต้องเป็นนักเขียน
ถ้าตอบแบบดาราก็ต้องบอกว่าประทับใจทุกชิ้นงาน (หัวเราะ) แต่มันประทับใจทุกชิ้นงานจริงๆ เพราะ กระบวนการของแต่ละงานไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นแฟนเพจเนี่ยเราประทับใจอยู่แล้ว
หนังสือ “สุขชนบท” โดยคิ้วต่ำ
(ขอบคุณภาพจาก: The 1 Book)
เอาผลงานตอนเป็นนักเขียนแล้วกัน เพราะเราไม่เคยคิดว่าจะต้องเป็นนักเขียน ทุกเล่มที่เขียนก็ไม่เหมือนกัน แต่มันจะมีเล่มนึงที่เราเขียนถึงบ้านเกิดเรา แล้วก็เป็นเล่มที่ได้รางวัลลูกโลกสีเขียว คือไม่เคยคิดอยากเป็นนักเขียนแล้วได้มาเป็นนักเขียน มีหนังสือ คือไม่เคยคิดว่าจะได้รางวัล ก็ได้รางวัล เล่มนั้นชื่อ “สุขชนบท” เป็นหนังสือเล่มแรกท่ามกลางสิบกว่าเล่มที่ได้เข้าชิง แล้วได้รางวัล คือเป็นรางวัลสุดท้ายในปีรัชกาลที่ 9 เป็นเรื่องที่เขียนเกี่ยวกับชนบทบ้านนอกเลย เขียนเป็นสไลต์คิ้วต่ำของเรา เราก็เลยรู้สึกว่าเล่มนี้เป็นอีกหนึ่งผลงานที่เราประทับใจ ตอนนี้ก็น่าจะยังมีวางขายอยู่ครับ
พอเจอเรื่องแบบนี้ มันก็เบื่อไม่ลง
อย่างช่วงนี้เป็นช่วงของโรคซึมเศร้า ถ้าเป็นฟีดแบ็กง่ายๆ ก็จะเป็นประมาณว่า “ส่งเพจให้เพื่อนดู แล้วเพื่อนก็ชอบนะ ตอนแรกเพื่อนก็เกือบคิดสั้น เขาอ่านแล้วเขาก็รักตัวเอง”
หรือถ้าเป็นฟีดแบ็กที่เกี่ยวกับช่วงคาบเกี่ยวของชีวิตน่ะก็มีชอบครั้งนึง…ผมเคยไปงานที่เชียงใหม่ มีนักศึกษาคนหนึ่งเป็นเภสัชฯ ที่ มช. มาให้เราเซ็นหนังสือ แล้วเขาก็ถามว่า “พี่จำหนูได้ไหมคะ” เราก็คิดในใจ ใครวะ (หัวเราะ) เลยบอกไปว่า “ไม่คุ้นจริงๆ ครับ” เขาบอกว่า “พี่ ที่แม่หนู Inbox เข้าไปไง” ก็คือเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ช่วงแรกๆ ของการเปิดเพจ มีแม่คนนึง Inbox เข้ามาว่าลูกสาวกำลังจะสอบเข้ามหา’ลัย คิดมาก ช่วยวาดรูปให้เขาหน่อยได้ไหมคะ เราไม่ได้วาดแต่เราก็ไปหาลิ้งก์ที่เกี่ยวกับกำลังใจ บอกไปว่า “คุณแม่ครับ รูปในเพจนี้ก็สามารถใช้ได้นะครับ” น้องเขาก็มาบอกขอบคุณที่อยู่ในช่วงลำบาก แล้วเราก็มาเห็นเขาในช่วงที่เรียนอยู่ปีสามแล้วน่ะ โห ไม่ได้ส่งเข้าเรียนนะ แต่ก็รู้สึกภูมิใจ ชื่นใจ เราเกือบลืมไปแล้วด้วย เราเลยรู้สึกว่า อ๋อ จริงๆ แล้ว
เราจำทุกคนที่ช่วยเหลือชีวิตเราได้ ก็เหมือนกับที่เขาจำเราว่าเป็นส่วนหนึ่งในแรงบันดาลใจของเขาช่วงนั้น เราก็จะประทับใจในฟีดแบ็กพวกนี้
เคยมีพระบอกว่า สิ่งที่โยมทำคือการทำบุญนะ ทำให้คนชื่นใจ ทำให้คนคิดได้ เป็นบุญออนไลน์โดยที่เราไม่รู้ตัว เราจะทำเพจเสียดสีก็ได้ เพจแรงๆ ก็ได้ แต่เพจเวิ่นๆ เว้อๆ มโน โลกสวยอย่างนี้น่ะบางทีก็จำเป็นสำหรับหลายคน
ปีที่แล้วมีแฟนเพจแต่งงานกันด้วย มีผู้หญิง Inbox เข้ามาขอให้ช่วยวาดรูปสำหรับงานแต่งให้หน่อย เราก็งงว่าทำไมต้องเป็นเรา เขาก็ส่งลิ้งก์แล้วเล่าให้ฟังว่าเขาเจอกับแฟนในโพสนี้ คือโพสคิ้วต่ำเป็นโพสให้กำลังใจน่ะ ฉะนั้นคนที่มาเม้นก็จะบอก “เหนื่อยจังเลยค่ะวันนี้” แล้วมีคนมาตอบว่า “สู้ๆ นะครับ” คนเห็นใจกันนะเวลา Down เขาก็คุยกันจนคบกัน และปีหน้าจะแต่งงาน ถ้าใกล้แต่งงานเมื่อไรคิ้วต่ำวาดรูปให้หน่อยได้ไหม เราก็วาดรูปให้ แล้วเขาก็เอาไปทำการ์ดแต่งงาน ทำบอร์ดให้คนมาเขียน แล้วก็ถ่ายรูปมาให้ดู เราก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อยที่น่าประทับใจ เรายังไม่มีแต่เขาได้แล้ว (หัวเราะ)
สิ่งที่เราทำนั้นมีผลกับคนอย่างนี้ด้วยนะ มีเรื่องให้เราชื่นใจได้ตลอดเวลา ถามว่ามีเบื่อไหมมันก็มีบ้าง แต่พอเจอเรื่องแบบนี้ มันก็เบื่อไม่ลง มันประทับใจ เป็นแรงผลักดันให้เราทำเพจต่อ
เราเคยละทิ้ง hi 5 ได้
เรื่องเพจหาย เคยคิดเหมือนกัน ที่จริงถ้าเป็นทางเทคนิคเราก็คงต้องแจ้งเฟซบุ๊กก่อนนะ ก่อนที่จะมานั่งร้องไห้ว่าทำไมถึงหายไป (หัวเราะ) แต่ถ้าเป็นเรื่องของความรู้สึก เราก็ต้องตั้งสติก่อนว่าจะทำอย่างไรต่อถ้าเกิดมันกู้คืนไม่ได้ เพราะจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องที่เราไม่คิดนะ เราคิดมาตลอด เพราะออนไลน์มันเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ เกิดมาร์ค (ซักเกอร์เบิร์ก) เขาเบื่อ ปิดเฟซบุ๊ก (หัวเราะ) ถ้าถามว่าเราจะทำอย่างไร ก็คงต้องทำใจถ้ามันเรียกคืนมาไม่ได้จริงๆ
แต่ก็อย่างที่บอกไปว่าเราพยายามทำตัวเองให้ออฟไลน์มาตลอด เรามีแผนสองให้ตัวเอง เช่น เรามีหนังสือนะ เรามีช่องทางนี้นะ เรามีโซเชียลอื่นๆ นะที่รองรับไว้ เป็นการกระจายความเสี่ยง เราก็ยังคิดเลยว่าถ้ามันหายไปเราก็จะสร้างดราม่าขึ้นมา ไม่แน่ว่าคนอาจจะกลับมามากกว่าเดิม (หัวเราะ) ใช้ความผิดพลาดหรือความซวยในชีวิตให้เกิดประโยชน์ที่สุด
แต่เรารู้สึกว่าถ้าเราเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว ต่อให้มันหายไปล้านแปดไลค์ ถ้าเรากลับมาอีกครั้ง ไลค์อาจจะไม่ได้กลับมาเยอะเท่าเดิมแต่ว่าคนก็ต้องตามหา นอกจากว่าเราไม่ดีจริง หายไปคนก็ไม่คิดถึง ถ้ามันดีจริงอย่างไรคนก็ต้องกลับมาอยู่ดี
เราไม่อยากเอาชีวิตทั้งหมดไปผูกกับคิ้วต่ำ ถ้าเกิดมันไม่มี เราจะตายเหรอ ก็ไม่ขนาดนั้น เราก็ต้องมีสติ แต่คงไม่ใช่แบบว่า “อ๋อ หายไปเหรอ ไม่เป็นไรครับ ชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้” โห ชีวิตมันก็ไม่ได้สวยงามขนาดนั้น มันก็ต้องเสียใจ แต่เราก็ต้องมีแผนสองในการรับมือ ในการสร้าง Account ใหม่ เราเคยละทิ้ง Hi 5 ได้ วันหนึ่งถ้าไม่มีเฟซบุ๊ก หรือมี Account ใหม่ๆ ขึ้นมา เราก็ต้องละทิ้งได้เพื่อเริ่มต้นใหม่
วันหนึ่งอยากให้คนในชีวิตของผมดูแลตัวเองได้
ที่จริงถ้ามีเงินเยอะ เราก็เกษียณได้ตลอดเวลาเลยนะ (หัวเราะ) สำหรับผมเนี่ย ที่วางเป้าหมายก็เพราะเคยมีช่วงที่ไม่มีงาน 2-3 วัน รู้สึกชีวิตตัวเองไม่มีค่า เลยเป็นคนที่ชอบทำอะไรมาก ฉะนั้นถึงมีเงินมากๆ ก็หยุดทำอะไรไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าการทำงานทำให้ชีวิตมีค่าจริงๆ
แต่ถ้าถามว่าวางเป้าหมายเกษียณเป็นอย่างไร… เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะแก่ตายหรือเปล่า เลยไม่ได้วางไกลขนาดนั้น ก็อาจจะวางแค่ว่าวันหนึ่งอยากให้คนในชีวิตของผมดูแลตัวเองได้ อันนี้คือเป้าหมายแรก เพราะถ้าเขาดูแลชีวิตตัวเองได้ เราสบายใจแล้ว ไม่ต้องมาดูแลเรา ดูแลชีวิตตัวเองให้ได้พอ
ส่วนเป้าหมายของตัวเองก็คงอาจจะมีอะไรอย่างอื่นทำ เป็นธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ เราอยู่ในโลกของการแข่งขัน ถูกมองเห็นมาเยอะ เลยอยากลองไปทำอะไรขาย เปิดร้านเล็กๆ ดู อาจจะเป็นเป้าหมายที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่ อยากทำอะไรที่สามารถดูแลตัวเองได้ในช่วงวัยหนึ่งก็พอ เพราะเราไม่รู้กระแสที่มันมาแล้วก็ไป อีกห้าหกปีข้างหน้าอาจจะไม่มีเฟซบุ๊ก ไม่มีคิ้วต่ำ อาจจะเป็นโฮโลแกรมก็ได้
จะมีเป้าหมายเล็กๆ แค่นี้ครับ ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร เพราะว่าผมเคยได้ยินคำพูดหนึ่งมา เขาบอกว่าถ้าตั้งเป้าหมายไกล เราไปไม่ถึง เราตายก่อน ตั้งเป้าหมายให้เล็ก เดินไปให้ถึงบ่อยๆ ก่อน เป้าหมายเลยไม่ได้อยู่ไกล ไม่ได้คิดถึงวัยเกษียณ คิดถึงแค่ว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า มีธุรกิจแบบนี้ มีบ้านอยู่ ก็โอเค
ชีวิตจะคัดกรองเก็บคนที่สำคัญไว้
เราคิดว่าคิ้วต่ำอายุเท่าเราเลย มันเดินมาพร้อมกับเราเลย เพราะคิ้วต่ำเริ่มตอนที่เราเรียนจบ คิ้วต่ำที่อยู่ในเพจก็เป็นตัวละครคิ้วต่ำที่เรียนจบ เรื่องในคิ้วต่ำที่เล่ามาตลอดจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับช่วงอายุของตัวเองตลอดเวลา ฉะนั้นถ้าไปดูช่วงแรกๆ คิ้วต่ำจะเป็นคำคมสั้นๆ เขียนเรื่องทั่วไป ประชุม ปวดหัว อะไรอย่างนี้มีตลอด
แล้ววันหนึ่งคิ้วต่ำก็ออกมา โตขึ้น ช่วงเราบวชก็เขียนเรื่องบวช ช่วงมีปัญหาเรื่องความรักก็เขียนเรื่องความรัก มันโตไปกับเรา ฉะนั้นมันก็อยู่ช่วงเดียวกับเราเลย เป็นส่วนหนึ่งของเรา อายุเท่ากันกับเราเลย ไม่ได้โตไปกว่าหรือเด็กไปกว่าเรา น่าจะเป็นคนช่วงวัยใกล้สามสิบ ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต มีมุมมองหลายๆ อันที่ลึกขึ้นกว่าการเป็นวัยรุ่น มองความรักลึกขึ้น ปล่อยวางได้มากขึ้นในบางเรื่อง จริงจังมากขึ้นในบางเรื่อง
เป็นคนใกล้วัยสามสิบ อายุถึงกลางชีวิตน่ะ จะคิดอะไรมากขึ้น ไม่ใช่เหมือนเมื่อก่อนที่แก่ตายน่ะ มันต้องมีสติ ต้องคิดอะไรต่อมิอะไรในการใช้ชีวิต มีหลายมุมมองมากขึ้น สนใจคนอื่นมากขึ้น พอโตขึ้นมาเราก็มองเห็นครอบครัว เพื่อนมากขึ้น
เพราะคนเหล่านี้จะลดจำนวนลง ไม่เพิ่มมากขึ้น ชีวิตจะคัดกรองเก็บคนที่สำคัญไว้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ลูกค้า หรือใครก็ตาม มันก็จะมีแค่คนที่จำเป็นให้ชีวิตเราเดินต่อ อาจจะเป็นคนไม่ดีก็ได้ แต่คนนี้จำเป็นในชีวิตเรา เขาก็จะอยู่ต่อ ชีวิตมันจะมีกระบวนการคัดกรองอย่างนี้ คิ้วต่ำก็จะเป็นคนที่อยู่ในช่วงนี้พอดี
การสร้างภารกิจให้ตัวเอง
จะหาเงินให้มากกว่าจำนวนไลค์ที่มี ถ้าเป็นเงินก็อยากทำได้สักสองล้าน เพราะไลค์ตอนนี้คือล้านแปด ถ้าปีหน้ายอดไลค์มันขึ้น ก็ต้องหาเงินให้ได้มากกว่ายอดไลค์ต่อ เป็นการสร้างภารกิจให้ตัวเอง แต่เราก็ไม่ได้กำหนดยอดไลค์ ปล่อยให้ไหลไปเรื่อยๆ
เป็นคนรวยสักครั้งหนึ่งน่ะ มันต้องใช้ชีวิตโง่ๆ บ้าง
ถ้าได้เงินล้านมา อย่างแรกเลย ดูหนี้สินก่อน ว่าสามารถเคลียร์อะไรได้บ้าง แต่ไม่ใช่ว่าจ่ายโปะหนี้สินนะ เพราะแค่ล้านหนึ่งคงโปะหนี้สินทั้งชีวิตไม่หมด ต้องแบ่งก่อนว่าหนึ่งล้านเนี่ย ส่วนหนึ่งเราจะเคลียร์หนี้สินให้มันเบาลงตรงไหนได้บ้าง อีกส่วนหนึ่งก็คือเก็บ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าเก็บเท่าไรเหมือนกัน แล้วก็ใช้ฟุ่มเฟือยสักนิดหนึ่ง แบบไม่กดดันตัวเอง สักก้อนหนึ่งที่แบบว่า เฮ้ย เป็นคนรวยสักครั้งหนึ่งน่ะ มันต้องใช้ชีวิตโง่ๆ บ้าง ส่วนอันอื่นก็คงเอามาใช้ในชีวิตตัวเองปกติ แล้วก็ต่อยอดในด้านการทำธุรกิจหรือว่าลงทุน เอาให้เงินมันงอกกว่าเดิม
เงินตรงกลาง
ที่จริง เงินทุกก้อนที่ได้มาจากงาน จะต้องมีส่วนที่เก็บ ส่วนที่ใช้ แล้วก็ส่วนกลาง ส่วนกลางเนี่ยแล้วแต่ครั้ง ครั้งนี้อาจจะใช้ซื้อนู่นซื้อนี่ หรือครั้งนี้อาจจะเอาไปลงทุน ฉะนั้นทุกครั้งเราจะมีส่วนกลางตรงนี้อยู่ คือตัวเองจะเรียกว่าเงินกิเลสน่ะ เราอาจจะอยากลงทุน อยากซื้อของ แต่ว่าทุกก้อนที่ได้มาต้องเก็บหนึ่งก้อน แล้วก็ใช้จ่ายหนึ่งก้อน ใช้จ่ายนี่คือรวมทั้งคอนโด การกินการอยู่ปกติ ก็ดูว่าก้อนนั้นมันได้มากได้น้อยแค่ไหน แล้วเงินตรงกลางจะเหลือไปใช้อะไรได้บ้าง
เงินตรงกลางคือเงินฉุกเฉิน?
ไม่เชิง เพราะเงินฉุกเฉินก็จะอยู่ในเงินใช้แล้ว เงินใช้คือเงินที่กิน อยู่ ของจุกจิกทั้งหมด แต่เงินกลางคือเงินที่สามารถใช้ซื้อของได้ สมมติว่าเราอยากได้ของหนึ่งชิ้น หรือ อยากลงทุน ก็จะใช้เงินกลางส่วนนี้ได้ แต่ต้องดูด้วยว่าเงินก้อนนั้นปริมาณเท่าไร เพราะถ้าเงินกลางมีน้อย มันก็ใช้อะไรไม่ได้มาก
เวลาเราได้เงินมาหนึ่งก้อน เราจะพยายามเก็บ ใช้กิเลสให้น้อยที่สุด เพราะจะได้ขยัน-หา-ต่อ จะได้รู้สึกว่าตัวเองจนตลอดเวลา
ลงทุนด้วยใจ
ถ้าไม่ใช่เรื่องของเงิน เราลงทุนด้วยใจ เวลาเราทำงานกับลูกค้าหรือใครก็ตาม อย่างแรกคือการให้ใจกัน เพราะว่าที่เราได้คอนเน็กชั่นต่อยอดมาทุกวันนี้เนี่ย มาจากเรื่องของใจล้วนๆ เราต้องยอมโดนเอาเปรียบบ้าง ยอมหยวนๆ กันบ้าง ยอมให้เขามากกว่าที่ควรจะให้บ้าง สิ่งที่ทำให้แฟนเพจคิ้วต่ำอยู่มาได้ 4-5 ปีคือการลงทุนด้วยใจ ด้วยความรู้สึก เขาจะรู้สึกว่า ทำงานกับเรา เราจริงใจนะ เราให้นะ เราเต็มที่นะ เราไม่ได้มาหลอกลวงเอากำไร
ถ้าเป็นส่วนของเรื่องเงิน อย่างแรกก็คือ ถ้าเป็นเรื่องครอบครัว เราส่งน้องเรียน เราดูแลพ่อ ให้เงินพ่อทุกวันเนี่ย ก็จะให้ด้วยการซื้อรถให้พ่อไปทำงานต่อ ค้าขายต่อ นี่คือการลงทุนให้เขา ในส่วนของน้อง ก็ส่งน้องเรียนจนจบ พอได้ปริญญามาเขาก็ต้องเอาไปต่อยอดแล้ว เราก็จะลงทุนไว้อย่างนี้ ลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายที่เขาสามารถนำไปต่อยอดได้ เพราะฉะนั้นในส่วนของเราเอง เราก็จะมีทั้งคอนโดที่เราเพิ่งซื้อ มีเรื่องของกองทุน ประกันชีวิตที่ใช้ลงทุนอยู่ทุกวันนี้ แล้วก็เรื่องของธุรกิจ
เราเคยทำงานแล้วก็เก็บเงินอย่างเดียว เราก็รู้สึกว่า เงินมันเยอะแต่มันก็แห้ง เรามีหมื่นนึงก็มีแค่หมื่น รู้สึกว่าเงินมันไม่งอกเลย มันควรจะเอาเงินหมื่นนั้นออกมาแตกยอด เช่น ทำธุรกิจ ลงทุนหน่อย เสียบ้าง ขาดทุนบ้าง แต่มันจะทำให้เรามีพื้นที่ที่จะสามารถทำให้เงินมันงอกได้ต่ออีก
เราจ่ายภาษีเยอะนะ
เริ่มต้นจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา เราทำงานแบบไม่ได้คิดอะไร ไม่เคยรู้เลยว่าชีวิตนี้ต้องมีเรื่องภาษี ก็ใช้ชีวิตไปประหนึ่งประชากรคนหนึ่ง คิดว่าไม่น่ามีผลอะไรกับชีวิต คิดว่าเราทำมาเราก็ควรได้ทั้งหมด ไม่เห็นจะต้องทำอะไรเลยมั้ง ตอนนั้นเป็นช่วงที่ทำงาน 4 เดือน มันคาบเกี่ยว ก็มีคนจัดการภาษีให้เรา พอทำงานไปสัก 2-3 ปี เราเริ่มเอะใจว่าทำไมมีจดหมายมาว่าเรามีภาษี เพราะเราไม่ได้ยื่นเลย ทำไม่เป็นเลย ยื่นก็ยื่นแบบมั่วๆ แค่ยื่นออนไลน์แล้วจบไป เราก็แบบ “เฮ้ย ทำไมยอดไม่หัก” ก็เพราะบางทีเราคิดจากใบที่เราได้มา แต่ใบที่เขาส่งมามีกระจายอยู่ที่นี่บ้างที่นู่นบ้าง ที่บ้านบ้างที่เราบ้าง เราก็ไม่ได้หมกเม็ด ก็คิดเท่าที่เรามี จริงๆ แล้วมันจะมีหลายๆ เจ้าที่เราไม่ได้ หรือเราได้แล้วญาติไม่ได้เอาใบมาให้เรา ก็จะมียอดไม่ตรงกัน ตอนนั้นก็เริ่มรู้ว่า เราจ่ายภาษีเยอะนะ (หัวเราะ)
การลงทุนก็เริ่มจากตรงนั้น ว่ามีส่วนไหนบ้างที่จะช่วยในการลดหย่อน แบ่งเบา เราจะสามารถสบายใจได้กับเงินเก็บส่วนไหนบ้าง นอกจากการฝากธนาคารไว้เฉยๆ ต้องมีประกันไหม ต้องมีนู่นนี่นั่นไหม ก็เป็นช่วงแรกที่เริ่มศึกษาว่ามีส่วนไหนลดหย่อนต่อยอดได้บ้าง แต่ถ้าถามว่าศึกษาหมดไหม ก็คงไม่ ศึกษาแบบคนไม่รู้น่ะ
เราเป็นชาวบ้าน ไม่รู้จริงๆ ก็เลยแบบว่า อ๋อ อันนี้ลดหย่อนได้ ซื้อเท่านี้สิ ลดหย่อนเท่านี้ เราก็จะไม่รู้ว่ามันได้กำไร ได้เปอร์เซ็นต์เท่าไร เราจะเน้นเร็วไว้ก่อน เพราะสิ้นปีจะเริ่มรน หมดปีปุ๊บจะลดหย่อนไม่ได้ จุดเริ่มต้นจึงมาจากเรื่องภาษี เรื่องรายจ่าย
เงินมันไปต่อยอดอย่างไรบ้าง
ศึกษากองทุนมาก็น่าจะประมาณ 2 ปี แต่ถามว่าศึกษารู้เรื่องไหม ก็ไม่ (หัวเราะ) ก็ศึกษาก่อนที่จะเริ่มลงทุน ว่ามันต่างกันอย่างไร แต่ไม่ได้ลึกขนาดที่ว่ามันจะต่อยอดอะไรให้เราได้บ้างไหม รู้แค่ว่า ซื้อเท่านี้ ลดหย่อนได้เท่านี้ แล้วสิ้นปีได้ปันผล เราจะรู้ประมาณเท่านี้ จากนั้นเราก็จะเริ่มศึกษาเยอะขึ้น ถามเพื่อนเรื่องหุ้นเพราะเห็นเพื่อนไปเข้าคอร์สหุ้น เรามีเพื่อนที่จบสายนี้เหมือนกันแต่ว่านั่งเทรดหุ้นอย่างเดียวเลย อยู่แต่กับกราฟฟิกกับคอม เราก็จะเริ่มถามเขาว่ามันเป็นอย่างไรบ้าง เงินมันไปต่อยอดอย่างไรบ้าง ความเสี่ยงสูงแค่ไหน เทรดผ่านมือถือได้จริงๆ หรือ พยายามศึกษาเรื่องพวกนี้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้ทุ่มตัว
เริ่มทีละเล็กละน้อยดีกว่า เพราะอย่าง 2 ปีแรกที่เริ่มซื้อกองทุนเราก็เริ่มสนใจมากขึ้นแล้ว ปีต่อไปก็เริ่มสนใจว่ากองทุนมีหลายที่ หลายแบบ เราก็เริ่มศึกษาแล้วแต่ก็ยังไม่ลึก พอคนอื่นพูดมาปุ๊บ เราก็จะถามว่ามันคืออะไร
พอเสิร์ชดูปุ๊บก็จะปรึกษาเพื่อน
อย่างแรกคือเสิร์ชกูเกิ้ลเลย แต่จริงๆ คือเราเป็นคนชอบตั้งสเตตัส เรามีเฟซบุ๊กก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ เราก็ตั้งในเฟซบุ๊กส่วนตัวเลยว่า มีใครซื้อกองทุนบ้าง มีกองไหนลดหย่อนภาษีบ้าง ช่วยอธิบายให้ฟังแบบง่ายๆ หน่อยได้ไหม ก็มีคนมาตอบว่าเราซื้ออันนี้ๆ เพื่อนแต่ละคนก็จะมาเสนอหลายๆ อัน เราก็จะก๊อปชื่อไปเสิร์ชดูอีกที พอเสิร์ชดูปุ๊บก็จะปรึกษาเพื่อน แล้วค่อยไปที่ธนาคารหรือแหล่งต่างๆ เพื่อสอบถามเพิ่มเติม ขอโบรชัวร์มา เป็นการหาข้อมูลแบบง่ายๆ เท่าที่จะหาได้
คนชอบมองว่า “จะได้อะไร จะเสียอะไร”
การทำคอนเท้นต์ให้คนสนใจเรื่องการลงทุนมากขึ้น อาจจะเป็นเรื่องของตัวอย่าง ต้องเป็นตัวอย่างที่อยู่กับตัวเขาเลย อย่างเช่น เราอยากให้แม่ค้าคนหนึ่งที่ขายของขายข้าวทุกวันแล้วได้เงินเยอะๆ มาลงทุนดูไหม ตัวอย่างก็จะบอกว่าเขาสามารถไปทำอะไรใกล้ตัวเขาได้บ้าง ป้าเดินมาร้านนี้ ป้าเดินไปที่บริษัทนี้ ป้าแค่มีเอกสารนี้ มันต้องง่ายน่ะ ต้องกินง่ายมากๆ ถ้าจะให้เข้าถึงคนกลุ่มอื่นๆ ต้องเป็นเรื่องใกล้ตัวเขามากๆ
ถ้าเราไปยกตัวอย่างที่ไกลตัวเขา เขาก็รู้สึกว่าเขาไม่จำเป็นต้องทำ เพราะชีวิตที่เขามีอยู่ก็ไม่เห็นมีปัญหา การลงทุนมีความเสี่ยง แล้วเขาจะไปเสี่ยงทำไม เกิดเขาเจ๊งล่ะ เขาเห็นข่าวนักธุรกิจล้มละลายร้อยล้านอย่างนี้ โดดตึกนู่นนี่นั่น เขาจะทำอย่างไร ฉะนั้นคอนเท้นต์ต้องเป็นเรื่องใกล้ตัว แล้วเขาจะได้อะไร คนชอบมองว่า “จะได้อะไร จะเสียอะไร” ง่ายๆ เห็นๆ ซื้อหวยไม่ถูก ก็คือไม่ถูก ถ้าถูกก็คือได้รางวัล
คอนเท้นต์ก็อาจจะต้องมีกระบวนการที่ทำให้เขาเข้าใจง่ายขึ้น โดยยกตัวอย่างจากวิถีชีวิตของเขาเอง ยกตัวอย่างว่าถ้าเขาทำ มันมีผลอย่างไรกับชีวิต กับกำไร กับกองทุนของเขาบ้าง แล้วใครที่จะได้ มองเห็นถึงเรื่องลูกหลานไหม ยุคสมัยนี้ไม่ใช่ยุคฝังหีบแล้วต้องเอาหีบมาแบ่งกัน มันสามารถต่อยอดอะไรให้กับคนที่อยู่ข้างหลังเขาได้บ้างไหม แล้วคนอย่างเขาจับต้องได้มากแค่ไหน พอพูดถึงเรื่องกองทุน เรื่องหุ้น ชาวบ้านก็จะจับต้องยาก เขาจะไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร แค่ดอกเบี้ยธนาคารบางทีเขายังไม่สนใจเลยว่ากี่เปอร์เซ็นต์ เขาก็แค่ฝาก ขอแบบถอนง่ายๆ ไว้ก่อน แล้วก็อาจจะมีการยกตัวอย่างของคนในระดับเดียวกันกับเขาที่เคยประสบความสำเร็จแล้ว ลุงพรป้าพงเคยทำสำเร็จอย่างไร เพราะบางทีเขาบอกว่า “ก็คนนี้จบปริญญาไง” “ก็คนนั้นทำธุรกิจดังไง” มันไม่ใกล้เขาน่ะ เขาก็รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องศึกษา
เวลาจะทำคอนเท้นต์เนี่ยอย่างแรกเลยคือเราต้องไปเป็นตัวเขาก่อน อย่าเพิ่งให้เขามาเป็นเรา เราต้องลงไปเป็นเขาเลยแล้วมองให้เห็นปัญหาของพวกเราโดยตรง อย่าสอนเขา ให้ไปเป็นเขาแล้วมองเราเป็นข้อเสีย ไปเป็นเขาก่อนแล้วมองย้อนกลับมาว่าทำไมเขาถึงไม่เดินเข้ามา อย่าเพิ่งไปมองว่าเราไม่ดีพอ บางปัญหาน่ะเราไม่รู้ ต้องให้เขาพูดว่าเพราะอะไร
เราเป็นคนชอบอยู่กับคนอื่น ชอบสังเกตพนักงานเซเว่น ชอบสังเกตทุกคน แล้วเราจะได้คาแรกเตอร์ของคนมาทำคอนเท้นต์ตลอด เวลาที่เราต้องคิดคอนเท้นต์เรื่องนี้เราก็จะคิดได้เพราะเราเสพเขามาหมดแล้ว เราใส่ใจชีวิตเขา
จริงๆ คอนเท้นต์มันทำยาก ยิ่งเป็นคอนเท้นต์หนัก เป็นข้อมูล แต่ถ้าอยากทำ เราต้องสนุกกับมันก่อน ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นโจทย์มากเกินไป
คุณจะมีทางของคุณเอง ต้องเรียนรู้เอง
จริงๆ แล้วเราเป็นคนชอบคุยเรื่องชีวิตกับคนอื่นนะ แต่ไม่เคยชอบสอนชีวิตเลย แต่ถ้าให้แนะนำก็อยากจะบอกว่า “ถ้ายังไม่ได้เริ่ม ก็เริ่ม” ถ้ายังงงอยู่ ก็ไม่เป็นไร ก็ยังต้องงงอยู่ แค่อย่าเพิ่งหยุด ชีวิตมันต้องค้นหาไปเรื่อยๆ และอย่ารู้สึกแย่กับสิ่งที่เราค้นหาแล้วเจอว่ามันไม่ใช่ บางทีเด็กมาบ่นว่าเจอสิ่งที่ไม่ใช่ อายุยังไม่ถึงครึ่งของเราเลย (หัวเราะ) ฉะนั้นเราก็จะบอกเสมอว่า ค่อยๆ ค้นหาไป ถ้าค้นหาแล้วมันยังไม่ใช่ ก็ค้นหาใหม่ เรามีเวลาเยอะ คนอายุหกสิบ เขาเพิ่งค้นเจอว่าเขาชอบวาดรูปก่อนตายไม่กี่วัน ก็ถือว่าค้นหาเจอแล้ว ฉะนั้นมันไม่มีอะไรยืนยันเลยว่า คุณต้องเจอตอนอายุเท่านี้นะ
ค้นหาไปเรื่อยๆ ครับ ทดลองไปเรื่อยๆ ชีวิตยังต้องเจอปัญหาอีกเยอะ ค่อยๆ ลองดูว่าเราชอบสิ่งนี้ไหม ถ้าชอบก็ทำ ทำดู เรียนรู้ดู ถ้าไม่ใช่จริงๆ ก็เปลี่ยน ก็หยุด ที่สำคัญคืออย่าดูถูกตัวเอง ดูถูกเพื่อให้มีแรงฮึกเหิมได้ แต่อย่าคิดว่าตัวเองจะทำต่ออีกไม่ได้
คนเราเวลาทำอะไรไปสักพักจะหมดศรัทธาในตัวเองมากๆ เลยนะ เราก็เป็น การหมดศรัทธาทำให้ทุกอย่างในชีวิตไม่เดินเลย พังทุกอย่าง ไม่ว่าจะเจอเรื่องที่แย่ หรือค้นหาตัวเองไม่เจอ เจอแล้วไม่ใช่ ไม่มีใครเห็นด้วย หรือตัวเองเดินไปแล้วรู้สึกแย่กับสิ่งนี้ ไม่ว่าอย่างไร อย่าหมดศรัทธาในตัวเอง ค่อยๆ ทำไป แต่ถ้าถามว่าให้ทำแบบไหน บอกไม่ได้ ชีวิตใครชีวิตมันจริงๆ คุณจะมีทางของคุณเอง ต้องเรียนรู้เองครับ
หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์จากเดือนมกราคม 2018
ติดตามความเคลื่อนไหวของคิ้วต่ำได้ที่
https://www.facebook.com/kiwtum/