เกษียณสุข หมายถึง สามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณ ในแบบที่เราต้องการ โดยไม่ต้องกังวลถึงเรื่องเงิน คือมีรายรับมากกว่า รายจ่าย และมากพอจะให้เราใช้ชีวิตได้ใน Lifestyle ที่เราต้องการด้วย แล้วเราจะต้องมีเงินเท่าไรมากแค่ไหนถึงจะเพียงพอ สิบล้าน ร้อยล้าน พันล้าน!!!

ลองมาดูก่อนว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่ต้องนำมาใช้ในการคำนวณจำนวนเงินที่จะต้องเตรียมเมื่อเกษียณ

อายุที่ต้องการเกษียณสุข

จะต้องมีเป้าหมายให้ชัดเจนว่า อยากจะเกษียณอายุเท่าไร 50 55 หรือ 60 ปี

อายุขัย

ก็ต้องประมาณด้วยว่า อายุขัยน่าจะเป็นเท่าไร ในประเทศไทย ผู้ชายจะอายุขัยอยู่ที่ 75 ปี ส่วนผู้หญิง 80 ปี ซึ่งปกติ ผมจะบวกไปอีก 5 ปี เพราะอนาคตจะต้องเพิ่มแน่ๆ

Lifestyle ที่เราต้องการจะใช้

อันนี้สำคัญที่สุดเพราะ ยิ่งเรามี Lifestyle ที่พอเพียง ติดดิน กินง่ายอยู่ง่าย นั้นหมายถึงเราจะใช้จ่ายน้อยเดือน แต่ถ้าหลังเกษียณ ยังต้องการกินหรู กินดี ยัง shopping ของมี brand ต้องไปเที่ยวต่างประเทศ นั้นหมายถึงเราจะใช้จ่ายมากต่อเดือน

สุขภาพของเราหลังมีอิสรภาพทางการเงิน

จำนวนเงินที่ประเมินยากที่สุดคือ ค่ารักษาพยาบาล เพราะเราไม่สามารถคำนวณได้ง่าย จะต้องมีการทำ แผน Long Term health care สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก บทความ “สู้เงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลด้วยแผน LTC

หนี้สินที่ยังต้องจ่ายอยู่

หลังเกษียณ จะต้องไม่มีหนี้สินที่ยังต้องจ่ายอยู่ แต่ถ้ายังมีอยู่ก็ต้องบวกไปในค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังมีอิสรภาพทางการเงินด้วย

ผลตอบแทนการลงทุน ภายหลังเกษียณอายุ

ภายหลังเกษียณอายุ ต้องรู้จักบริหารการลงทุนเงินให้มีผลตอบแทนที่เหมาะสม ซึ่งอย่างน้อยจะต้องชนะเงินเฟ้อ (ประมาณ 2.5% ต่อปี) เงินของเราหมายถึง สินทรัพย์ การลงทุนเช่น เงินสด หุ้น กองทุนต่างๆ ประกันสะสมทรัพย์ ประกันบำนาญ บ้านเช่า จะไม่รวมบ้านที่อยู่อาศัยและรถยนต์

เงินเฟ้อของค่าครองชีพ

เงินเฟ้อจะทำให้ค่าเงินลดลง หมายถึง จะต้องมีเงินมากขึ้นในอนาคตเพื่อที่จะให้อำนาจของเงินเท่าเดิม ยิ่งเงินเฟ้อสูงมาก ก็จะต้องเตรียมเงินมากขึ้น

ขอสรุปดังนี้

สิ่งที่แปรผันตรงกับ จำนวนเงินที่จะต้องเตรียม คือ ยิ่งเยอะ ยิ่งต้องเตรียมเงินเยอะ

  • ผลต่างของอายุขัยและอายุที่เกษียณ เช่น อายุเกษียณ 50 อายุขัย 80
  • Lifestyle ที่เราต้องการจะใช้ ถ้ายังต้องการกินหรู ยิ่งต้องเตรียมเยอะ
  • หนี้สินที่ยังต้องจ่ายอยู่ ถ้ายิ่งมาก ยิ่งต้องเตรียมเงินมากขึ้น
  • เงินเฟ้อ ยิ่งสูง ยิ่งต้องเตรียมเงินมากขึ้น

สิ่งที่แปรผันผกผันกับ จำนวนเงินที่จะต้องเตรียม คือ ยิ่งเยอะ ยิ่งต้องเตรียมเงินน้อย

  • สุขภาพของเราหลังมีอิสรภาพทางการเงิน ยิ่งสุขภาพดี ยิ่งเตรียมเงินน้อย
  • ผลตอบแทน ภายหลังมีอิสรภาพทางการเงิน ยิ่งผลตอบแทนเยอะ ยิ่งเตรียมเงินน้อย

ยกตัวอย่าง

  • นาย A อายุ 35 ต้องการเกษียณ อายุ 50 อายุขัย 80 ปี ชอบเสี่ยง เป็นเซียนตลาดหุ้น ลงทุนได้ผลตอบแทนปีละปีละ 10 % หลังเกษียณ (คิดเงินเฟ้อ 3%) เป็นคนอยู่ง่ายกินง่ายพอเพียง ไม่มีภาระหนี้สินใดๆ ค่าใช้จ่ายต่อเดือน 30,000 บาท(มูลค่าเงินในปัจจุบัน) นาย A จะต้องมีสินทรัพย์การลงทุน ประมาณ 7 ล้านบาท ณ อายุ 50 สำหรับเกษียณสุข (ไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ)
  • นาย B อายุ 35 ต้องการมีอิสรภาพ อายุ 50 อายุขัย 80 ปี เป็นเจ้าของกิจการ ลงทุนได้ผลตอบแทนปีละปีละ 10 % หลังเกษียณ (คิดเงินเฟ้อ 3%) หลังจากอายุ 50 ปี ยังต้องการเที่ยว ดื่มกินอย่างหรู ไม่มีภาระหนี้สินใดๆ ค่าใช้จ่ายต่อเดือน 100,000 บาท(มูลค่าเงินในปัจจุบัน) นาย B จะต้องมีสินทรัพย์การลงทุน ประมาณ 23 ล้านบาท ณ อายุ 50 สำหรับเกษียณสุข (ไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ)

จะเห็นได้ว่า นาย A และ นาย B ความต้องการจะเหมือนกัน ยกเว้น จะมี Lifestyle แตกต่างกัน โดยนาย A จะเป็นคนพอเพียง ส่วนนาย B จะเป็นคนชอบเที่ยวกินหรู ดังนั้นนาย B จะต้องเตรียมเงินมากกว่านาย A

  • นาย C อายุ 35 ต้องการมีอิสรภาพ อายุ 50 อายุไข 80 ปี เป็นลูกจ้าง กลัวการลงทุน จึงลงทุนความเสี่ยงต่ำได้ผลตอบแทนปีละ 3% หลังเกษียณ (คิดเงินเฟ้อ 3%) หลังจากอายุ 50 ปี ต้องการชีวิตแบบพอเพียง ไม่มีภาระหนี้สินใดๆ ค่าใช้จ่ายต่อเดือน 30,000 บาท(มูลค่าเงินในปัจจุบัน) นาย C จะต้องมีสินทรัพย์การลงทุน ประมาณ 15 ล้านบาท ณ อายุ 50 สำหรับเกษียณสุข (ไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ)

จะเห็นได้ว่า นาย A และ นาย C ความต้องการจะเหมือนกัน ยกเว้น ความสามารถในการลงทุน โดยนาย A มีความสามารถในการลงทุน ส่วนนาย C กลัวความเสี่ยง ลงทุนที่เสี่ยงต่ำ ดังนั้นนาย C จะต้องเตรียมเงินมากกว่านาย A มาก

ทางเลือกเกษียณขึ้นอยู่กับคุณ จะต้องเตรียมเงินมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณ

“ จงวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณไว้เป็นเป้าหมายหลักของชีวิตคุณ”
จงอย่ารอให้ลูกหลานเลี้ยง
จงอย่ารอให้รัฐบาลเลี้ยง
จงอย่าคิดว่าเก็บเงินแค่ 10% จะเพียงพอ
จงอย่ากลัวการลงทุน
จงอย่ากลัวการทำประกันสุขภาพ

และสุดท้าย

จงเปลี่ยนทัศคติของคุณใหม่ “ จาก เกษียณเริ่มเมื่อไรก็ได้ เป็น เกษียณต้องเริ่มเดี๋ยวนี้”

sompoj patsuwan
สมพจน์ พัดสุวรรณ


เริ่มลงทุนเพื่อเกษียณด้วยพอร์ตลงทุนแบบ Global Aggressive Hybrid พอร์ตกองทุนที่จัดโดย WealthGuru ซึ่งลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการให้เงินสร้างความมั่งคั่งในอนาคต สามารถดูรายละเอียดและลงชื่อรับบริการได้ที่นี่
https://www.finnomena.com/port/wealthguru/ หรือแบนเนอร์ข้างล่างเลย

พอร์ตเก็บเงินก้อนเพื่อลูก และเพื่อเกษียณโดย WealthGuru

คำเตือน

ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน |  ผลการดำเนินงานในอดีต / ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน

TSF2024