ตลาดปรับฐานแบบสุขภาพดีจริงหรือ

เปิดตลาดการเงินในปี 2018 มาได้ไม่นาน นักลงทุนก็ต้องพบกับความผันผวนรุนแรงเสียแล้ว บอนด์ยีลด์สหรัฐขยับสูงขึ้นไม่หยุด ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปรับตัวสูงขึ้นถึง 0.4% จนไปแตะระดับ 2.9% สูงที่สุดในรอบกว่า 4 ปี ทั้งที่เฟดยังไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยสักครั้ง ตลาดหุ้นสหรัฐรับลูกด้วยความกังวล และปรับฐานลงอย่างหนัก ดัชนี S&P500 ที่กำลังทำจุดสูงสุดใหม่ร่วงกว่า 10% ภายในไม่กี่วัน ลากให้ตลาดการเงินทั่วโลกปรับฐานอย่างน้อย 5-7% ตามไปด้วย ร้อนไปถึงบอนด์ยีลด์ทั่วโลกที่ขยับขึ้นเฉลี่ยราว 0.2% แม้ราคาน้ำมันจะดิ่งลงไป 7% แม้แต่ทองคำก็อ่อนค่าลง 3% เทียบกับดอลลาร์

ไม่ว่าจะลงทุนอะไรก็ดูจะพังไปหมด

อย่างไรก็ดี กูรูทางการเงินมากมายดูจะยัง “ไม่ถอดใจ” และส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า การปรับตัวลงของตลาดครั้งนี้คือ “Healthy Correction” หรือแปลเป็นไทยได้ประมาณว่า “การปรับฐานแบบสุขภาพดี”

นักเศรษฐศาสตร์สำนักใหญ่หลายท่านยังออกมาเสริมอีกด้วยว่าการปรับตัวสูงขึ้นของบอนด์ยีลด์ไม่ใช่เรื่องแย่ เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ผู้ประกอบการณ์กล้ากู้ ประชาชนกล้าใช้จ่าย และเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งคือสิ่งที่รออยู่ในปีนี้

เหนือสิ่งอื่นใด นักลงทุนส่วนใหญ่ดูจะไม่มีความกลัว และถามเป็นเสียงเดียวกันว่า “ซื้อดีไหม” ตอกย้ำว่าความมั่นใจของนักลงทุนดูจะไม่ลดลงจาก Healthy Correction นี้เลย

ผมก็เป็นนักลงทุนคนหนึ่ง เป็นไปได้ก็อยากจะเห็นตลาดที่ขึ้นไม่มีลงเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงเราก็ต้องยอมรับว่าสินทรัพย์ทางการเงินทุกอย่างมี “มูลค่าพื้นฐาน” และถ้าราคาปัจจุบันผิดจากราคามูลค่าแท้จริงของสินทรัพย์ไปมาก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการ Correction หรือปรับฐานได้

ที่น่าสนใจคือครั้งนี้เป็นการ “ปรับฐานแบบสุขภาพดี” หรือ “ลงเพื่อรอขึ้นต่อ” จริงไหม ผลกระทบของการปรับฐานต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจ ในมุม “ผลตอบแทนต่อความเสี่ยง” เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจ

การปรับฐาน แบบปรกติ จะเกิดขึ้นเมื่อสินทรัพย์มีพฤติกรรมหรือราคาที่ผิดปรกติ ดังนั้น หลังการปรับฐาน จุดสมดุลย์ใหม่จะเป็นจุดที่ความผิดปรกติบางอย่างในตลาดควรหายไป หรือราคาควรกลับเข้าใกล้พื้นฐานมากขึ้น เหมือนคนเจอมะเร็งร้าย อยากหายก็ต้องแลกด้วยการรักษาหรือการผ่าตัดที่เจ็บปวด

ที่มา : Facebook page ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

เมื่อมองแบบนี้การ ปรับฐานแบบสุขภาพดีก็ควรเป็นอะไรที่ดีกว่านั้น เช่นเป็นเหมือนวัคซีน ที่ฉีดเข้าร่างกายแล้วไม่ทำให้เกิดโรค แต่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้

ที่มา : Facebook page ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

ในโลกการเงิน เราอาจมองการขยับต้นทุนอย่างดอกเบี้ยขึ้น เปรียบเสมือน “ยาขม” ที่เศรษฐกิจและตลาดการเงินกำลังดื่มอยู่ จะ Healthy ก็ต่อเมื่อ ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลงเพียงระยะสั้น ไม่ทำให้ตลาดผันผวนสูงขึ้น และสร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยงให้กับสินทรัพย์ได้ในระยะยาว

ในมุมมองของผม การปรับฐานรอบนี้ไม่ง่ายเพราะ ไม่มีสินทรัพย์ทางการเงินชนิดไหนที่เราสามารถเรียกว่าเป็นที่พักเงินได้เต็มปากเลย

ตามทฤษฏีการลงทุน เมื่อสินทรัพย์ทางการเงินทุกอย่างปรับตัวไปทางเดียวกัน การลงทุนจะมีความเสี่ยงมากขึ้นทันทีเพราะความผันผวนที่เคยลดได้ด้วยการกระจายการลงทุน (diversification) หายไป การ “ลดความเสี่ยง” เกิดได้เพียงวิธีเดียวคือ “ลดพอร์ต” และ “รอ” ให้ความผันผวนในทุกสินทรัพย์ปรับตัวเข้าหาสู่จุดสมดุลย์ใหม่
หลักทรัพย์ในตลาดทุนจะปรับตัวขึ้นได้เมื่อความเสี่ยงกลับสู่สมดุลย์

ที่มา : Bloomberg และ KTB Global Markets

ดังนั้นเมื่อความผันผวนในตลาดต้นตอปัญหาอย่างอเมริกายังไม่ลดลงสู่ระดับที่วางใจได้ ก็ยากที่จะเรียกว่านี่คือการปรับฐานแบบสุขภาพดี

ซ้ำร้ายไปกว่านั้นถ้าการปรับฐานรอบนี้ส่งผลให้ภาวะความผันผวนต่ำผิดปรกติที่เคยอยู่กับตลาดจบลง การปรับพอร์ทการลงทุนครั้งใหญ่ของโลก อาจเริ่มขึ้นเร็วๆนี้ และนักลงทุนควรเพิ่มความระมัดระวังในช่วงการปรับฐานนี้

อย่างไรก็ตาม การปรับฐานรอบนี้ไม่ได้แย่ไปทั้งหมดเพราะ “ไม่ได้เกิดมาจากปัญหาเศรษฐกิจ” ดังนั้น “โอกาสที่จะลุกลามไปสู่ภาวะวิกฤติก็แทบจะไม่มี”

ถ้าเศรษฐกิจโลกยังแข็งแกร่ง ตลาดจะเข้าสู่ภาวะสมดุลย์ได้เร็ว และเมื่อไหร่ก็ตามที่เศรษฐกิจดีขึ้นจนทนต่อแรงกดดันด้านต้นทุนได้แล้ว การลงทุนก็จะพลิกกลับมาสดใสได้อีกครั้งแน่นอน

เราอาจมองการปรับฐานครั้งเหมือนการตรวจสุขภาพตลาดการเงินประจำปี ตอนนี้เรารู้แล้วว่า ตลาดไม่แข็งแรงมาก ออกอาการวิงเวียนเมื่อดอกเบี้ยขึ้น และโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนก็ไม่น้อย อดทน ไม่รีบร้อน และลงทุนแต่พอตัวคือทางเลือกที่เหมาะสม

มีเพียงคุณหมอที่ชื่อ “เวลา” เท่านั้นที่จะวินิจฉัยได้ชัดเจนว่า การปรับฐานของตลาดการเงินโลกครั้งนี้ “มีสุขภาพดี” จริงหรือไม่

TSF2024